สัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนฯ มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับเมื่อผิดนัดชำระหนี้ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน โดยมีผลย้อนหลังกับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย ท่ามกลางความเป็นห่วงว่า จะส่งเสริมให้คนไทยเสียวินัยทาง การเงิน และอาจส่งผลให้กองทุน กยศ.มีปัญหาเงินทุนในอนาคต

การเสนอกฎหมายเช่นนี้ อาจทำให้นักการเมืองได้คะแนนนิยมในการเลือกตั้ง แต่เป็นการทำลายกฎกติกาที่ดีงามของสังคม สร้างผลเสียต่อสังคมไทยในระยะยาว

คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ก็เป็นห่วงว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านทั้งสองสภา คงต้องมีการวางแผนบริหารเงิน กยศ.ใหม่ที่ผ่านมา กยศ.ใช้เงินประเดิมที่รัฐบาลมอบให้ แล้วบริหารเงินกองทุนโดยไม่ได้ใช้งบประมาณ เงินส่วนใหญ่ได้จากเยาวชนรุ่นก่อนที่เรียนจบ แล้วจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย บางส่วนที่ล่าช้าก็เสียค่าปรับ ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนตลอดเวลา ตอนนี้ยังมีขั้นตอนของวุฒิสภา กระทรวงการคลังต้องไปชี้แจง ส่วนจะสามารถปรับเปลี่ยนกฎหมายได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภา

คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. ก็เห็นว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ คงต้องพิจารณาถึง ผลกระทบต่อสถานะกองทุนและ การบริหารจัดการเงินปล่อยกู้ให้กับนักเรียนต่อไป เนื่องจาก กองทุนมีสภาพคล่องจากการชำระหนี้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท เป็นดอกเบี้ยและค่าปรับ 6 พันล้านบาท กองทุนมีค่าใช้จ่ายปีละ 2 พันล้านบาท

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ คุณชัยณรงค์ เปิดเผยว่า กองทุน กยศ. ตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 ได้เงินงบประมาณเป็นทุนจัดตั้ง 3,000 ล้านบาท ดำเนินการมาแล้ว 20 ปี ปล่อยกู้นักเรียนไปแล้วกว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน มีผู้ปิดบัญชีชำระหนี้หมดแล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และ อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยมี ผู้ผิดนัดชำระหนี้ 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท

...

คิดบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ กองทุนมีเงินเข้าจากการชำระหนี้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท มีเงินออกจากการปล่อยกู้นักเรียนใหม่ปีละ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้กองทุนอยู่มาได้ 20 ปี รายได้จากดอกเบี้ยและค่าปรับปีละ 6 พันล้านบาท ทำให้กองทุนไม่ต้องพึ่งเงินภาษีรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไปแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กองทุนมีปัญหา

ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาได้ ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านคน ก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แถมยังได้ดอกเบี้ยที่จ่ายไปคืนทั้งหมด เพราะกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินไปจ่ายคืนดอกเบี้ยผู้กู้ ถ้าย้อนหลังไปถึงผู้กู้ทั้งหมด 6.2 ล้านคน รัฐบาลต้องหาเงินไปจ่ายคืนดอกเบี้ยอีกไม่รู้เท่าไหร่ ไม่รู้นักการเมืองไทยคิดได้ยังไง

เมื่อไม่ต้องเสียค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ ผมเชื่อว่า ผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน อาจมีการเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเงิน กองทุน กยศ.ในอนาคต รายได้กองทุนจะหายไปปีละ 6 พันล้านบาททันที ถ้ามีการเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น เงินกองทุนก็ยิ่งลดลง เหลือเงินปล่อยกู้รายใหม่ได้น้อยลง สุดท้ายกองทุนอาจถึงขั้นหมดเงิน

เขียนเรื่องนี้แล้วผมก็คิดถึง นิสิตนักศึกษาแพทย์ ที่ ต้องทำงานใช้ทุน 3 ปี เมื่อเรียนจบ ด้วยการ เป็นหมอในโรงพยาบาลชนบทห่างไกลรักษาคนยากจน นักศึกษาแพทย์ทุกคนเมื่อสอบติดแพทย์ ต้องทำสัญญาใช้ทุนกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 1 เพราะต้นทุนการผลิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้เงินราว 5 ล้านบาท รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีสนับสนุน เมื่อเรียนจบจึงต้องใช้ทุน 3 ปีก่อนไปเรียนต่อ ถ้าไม่ใช้ทุนก็ต้องใช้เงินคืนรัฐบาล 4 แสนบาท

เป็นกฎกติกาที่ดีงามของสังคมการศึกษาไทยมายาวนานแล้ว

ทำไม นักการเมืองไทยยุคนี้ จึงไม่คิดทำเรื่องดีๆให้ชาติบ้านเมืองดีขึ้น คิดแต่หาเสียงหาทุนโดยไม่คิดถึงความถูกต้องชอบธรรม หรือ ยุคนี้ กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”