• พารู้จัก "น้ำอบ-น้ำปรุง" ความแตกต่างของเครื่องหอมไทย เฟื่องฟูอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5
  • เปิดตำรับ "น้ำปรุง" จากภูมิปัญญาหญิงชาววัง ความลับของแต่ละตำหนักแข่งกันปรุงเครื่องหอมทำใช้กันภายใน บางตำรับไร้ผู้สืบทอดสูญหายไปตามกาลเวลา
  • ที่มาของคำว่า "น้ำปรุง" ขั้นตอนสุดประณีต ยิ่งหมักนานยิ่งหอม กลิ่นที่ได้จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้

หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อ น้ำอบ น้ำปรุง ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหอมของไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ มีขั้นตอนการทำที่ประณีตละเอียดอ่อน พิถีพิถัน 

แม้ว่าทั้งสองจะเป็นเครื่องหอมของไทยเหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างกัน สำหรับ "น้ำอบ" พบว่ามีมาก่อนน้ำปรุง เปรียบเหมือนโคโลญจน์ มีกลิ่นหอมเบาบาง ไม่ติดทนนานนัก และมีส่วนผสมของแป้ง ส่วน "น้ำปรุง" จะมีความใกล้เคียงกับน้ำหอมของฝรั่ง และมีกลิ่นติดทนนานกว่าน้ำอบ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นับได้ว่าเป็นยุคทองของเครื่องหอมไทยที่เฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีการติดต่อกับชาวต่างชาติและได้นำน้ำหอมเข้ามาจนเป็นกลายเป็นที่นิยม แม้ว่าช่วงแรกน้ำหอมจะเป็นนิยมแต่สภาพอากาศของบ้านเรานั้นแตกต่างจากประเทศตะวันตก เนื่องจากมีอากาศร้อนชื้น ทำให้รู้สึกว่าน้ำหอมน้ำมีกลิ่นแรง และอาจทำให้เวียนหัวได้

...

เจ้านายผู้หญิงจึงมีการคิดค้นเครื่องหอมให้มีกลิ่นที่ละมุนขึ้น สันนิษฐานว่าเริ่มมีการใช้ภายในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 น้ําปรุงจัดเป็น "เครื่องหอมไทยชั้นสูง" ที่เจ้านายในวังนิยมใช้เป็นน้ําหอมประจําพระองค์ รวมถึงบรรดาลูกหลานขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้ามาถวายตัวรับราชการในตําหนักเจ้านายต่างนิยมใช้ประพรมร่างกายให้เกิดกลิ่นหอม ซึ่งแต่ละตําหนักต่างก็มีตํารับความหอมที่เป็น ความลับเฉพาะ ล้วนแล้วแต่แตกต่างกัน บางตํารับยังมีการสืบทอดคงอยู่จวบจนปัจจุบัน บางตํารับไร้ผู้สืบทอดก็เป็นที่น่าเสียดายที่จะต้องสูญหายไปตามกาลเวลา

ในอดีตแต่ละพระตําหนัก จะมีการประกวดประชันขันแข่งกันปรุงเครื่องหอม ไม่ว่าจะเป็นน้ําอบ น้ําปรุง แป้งร่ำเอาไว้ใช้กันเองเป็นการภายใน ซึ่งกลิ่นหอมของแต่ละตําหนักนั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่า เจ้านายผู้เป็นต้นตํารับจะชอบหรือเน้นกลิ่นใดเป็นพิเศษ โดยตํารับของวังหลวงมีอยู่หลายพระตําหนักด้วยกัน แต่ส่วนมากจะเน้นกลิ่นจันทน์เทศ ไม้จันทน์

แต่ตําหนักที่ขึ้นชื่อว่ารับผิดชอบเรื่องเครื่องหอมโดยตรงนั้น จะเป็นตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะนอกจากเสด็จพระองค์หญิงฯ จะทรงมีหน้าที่ ปรุงพระสุคนธ์ (เครื่องหอม) น้ําอบ น้ําสรงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงกํากับดูแล ห้องพระสุคนธ์แล้ว ยังทรงทําน้ําอบ น้ําปรุง แป้งสด แป้งร่ำ กระแจะ เทียนอบจําหน่ายในวังอีกด้วย

โดยตํารับของพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์นั้น จะเป็นน้ําอบ น้ําปรุง ที่เน้นกลิ่นหอมของดอกกระดังงา มะลิ น้ํามันจันทน์ และพิกุลเป็นหลัก แต่โดยกรรมวิธีการปรุงน้ําปรุงของแต่ละตําหนักนั้นจะเหมือนๆ กันเกือบทั้งหมด แต่จะแตกต่างกันตรงเคล็ดลับการปรุงกลิ่นให้หอมถูกใจเท่านั้น

ภูมิปัญญาจากในรั้ววัง สู่รุ่นต่อรุ่น

"ครูเอ๋" ทิวาพร เสกตระกูล ผู้แทนครูภูมิปัญหาท้องถิ่น เจ้าของแบรนด์เทวาภิรมย์ ได้เปิดเผยในทริป The Secret of พระนคร ตอน "เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ" ของทาง KTC ว่า แรงบันดาลใจในการทำน้ำปรุงของตนนั้น มาจากการเข้าศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ฝ่ายพระราชฐานชั้นใน ณ พระตําหนัก พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา รุ่นที่ 26 และได้เล่าเรียนวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์รุ่นเก่าซึ่งปัจจุบันบางท่านเสียชีวิตแล้วก็มี

ครูเอ๋ ทิวาพร เสกตระกูล
ครูเอ๋ ทิวาพร เสกตระกูล

สำหรับ "น้ําปรุง" เป็นน้ําหอมที่ได้มาจากการสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้หลายๆ ชนิด ซึ่งมักจะใช้ดอกไม้ที่หาได้ ง่ายๆ เช่น ดอกมะลิ ดอกโมก ดอกจําปี จําปา กระดังงา กุหลาบ ชมนาด สายหยุด พุทธชาด เป็นต้น

...

สำหรับกระบวนการทําน้ําปรุง จะใช้วิธีลอยดอกไม้สดในน้ําสะอาดเป็นเวลาหลายๆ วัน และต้องเปลี่ยนดอกไม้ทุกวัน เพื่อให้คงกลิ่นหอมไม่จางหายไปและได้น้ําปรุงที่มีคุณภาพ ก่อนจะนําน้ําลอยดอกไม้ไปอบควันเทียนซ้ำกัน หลายๆ ครั้งเพื่อใช้ในการปรุง

ต้นเนียม
ต้นเนียม

หลังจากนั้นจึงทําการสกัดสีเขียวและกลิ่นหอมจาก "ใบเนียม" ด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ที่ใช้สกัดสมุนไพรเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้น หมักผสมรวมกับวัตถุดิบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศและสมุนไพร เพื่อให้คงกลิ่นหอมสดชื่นมากขึ้น แทรกด้วยน้ํามันจันทน์ น้ํามันหอม ตรึงกลิ่นด้วยชะมดเช็ดแล้วจึง หมักทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน เพื่อให้ส่วนผสมทุกอย่างมีความเข้ากัน และได้กลิ่นหอมเต็มที่แล้วจึงนํามาใช้ เป็นน้ําหอมฉีดพรมตามร่างกาย

...

พิมเสน
พิมเสน

ที่มาของคำว่า "น้ำปรุง" ยิ่งหมักนานยิ่งหอม

การนําวัตถุดิบทั้งหลายมาผสมเข้าด้วยกันเช่นนี้ที่เรียกว่า "ปรุง" จึงเป็นที่มา ของการเรียกน้ําหอมไทยชนิดนี้ว่า "น้ําปรุง" ในอดีตจะนำน้ำปรุงหมักในขวดใสแล้วห่อด้วยกระดาษเพื่อป้องกันแสงแดด แต่ในสมัยนี้สามารถหมักทิ้งไว้ในขวดสีชา ยิ่งหมักนานยิ่งหอม ทำให้น้ำปรุงที่หมักไว้ 1-2 ปี มีราคาแพง

โดยน้ําปรุงชั้นดี จะมีความหอมติดทนราวๆ 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ําปรุง อุณหภูมิ ของร่างกายผู้ใช้ และสภาพอากาศสิ่งแวดล้อมด้วย.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Chonticha Pinijrob