ท่ามกลางการเชื่อมโยงของสังคมและประชาคมโลกอย่างไร้ขีดจำกัด นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว วงการศิลปหัตถกรรม “ไทย”...จึงจำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้ที่จะ
ก้าวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้

แน่นอนว่าอาวุธสำคัญของ “ผู้สร้างสรรค์” และ “ผู้ประกอบการ” งานหัตถศิลป์คือการวางแผนอย่างรอบด้าน เทรนด์หรือทิศทางในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นเครื่องมือที่ทำให้รู้ว่าจะก้าวเดินไปอย่างไร เพื่อบ่งบอกทิศทางของงาน “หัตถกรรมไทย” ให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

...สามารถตอบสนองรองรับความเคลื่อนไหวของตลาดได้ วันนี้... ศิลปหัตถกรรมในหลากหลายมิติ การวิจัยแนวโน้มงานหัตถศิลป์ในอนาคตเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมในแต่ละปี ขับเคลื่อนงานออกแบบ งานนวัตศิลป์ใหม่ๆ นำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงบูรณาการ

เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าความเป็นไทยตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบัน การศึกษาบวกประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเป็นคู่มือและทางลัดสำคัญให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างชิ้นงานได้ตรงกับความต้องการ รสนิยมของลูกค้า

...

รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างทันท่วงที ทำให้โอกาสความเสี่ยงทางธุรกิจลดน้อยลง อีกทั้งยังจุดประกายและสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ๆในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหัตถศิลป์ไทยเข้าสู่โลกได้อย่างสง่างาม

เข้าใจง่ายๆ คือ “ตลาดนำการผลิต”

ภาพสะท้อนความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ที่เพิ่งจบไป...ใครที่มีโอกาส ได้แวะเวียนไปแล้วจะรู้เลยว่างานนี้ไม่ธรรมดาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงาน...เลือกซื้อสินค้าทั้งคนไทย ชาวต่างชาติคลาคล่ำ

สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและคราฟต์ไทยในขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลาย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ตัวเลขจริงที่มีรายงานออกมาช่วงตลอด 4 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าชมงาน 32,430 คน และมียอดการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สูงเกือบ 157 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

สะท้อนชัดเจนว่าเป็นผลบวกจากความนิยมสินค้า “หัตถกรรม” และ “งานคราฟต์” เพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดงานในปีนี้ โดดเด่นในคอนเซปต์สตรีทอาร์ทตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายบวกกับการประชาสัมพันธ์ งานที่สร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจเลือกซื้อสินค้าได้ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์

ไฮไลต์สำคัญคือผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจ อาทิ เครื่องเงิน, เครื่องทอง, ผ้าไหม, ผ้าฝ้าย, งานจักสาน เครื่องไม้ โดยเฉพาะสินค้างานคราฟต์ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ

พบว่าสินค้า 5 อันดับแรกที่ลูกค้าต่างชาติเลือกซื้อ ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ จักสาน เครื่องประดับ เซรามิก และของตกแต่งบ้าน

ขณะที่ 5 อันดับร้านค้ายอดขายสูงสุดในปีนี้ แบ่งเป็นงานอัตลักษณ์แห่งสยามฯ ได้แก่ ร้านอุษาคเนย์ ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, บ้านทองสมสมัย ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้านคำปุน อุบลราชธานี ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย

ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และกลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ ประเภทสินค้างานจักสาน

ส่วนงาน Crafts Bangkok 2022 มี 5 อันดับร้านค้ายอดขายสูงสุด ได้แก่ ร้านบุตรระย้า ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้าน Dhanu ประเภทสินค้าเครื่องเงินและเครื่องทอง, ร้านจันทร์หอม ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย, ร้านรังแตน ประเภทสินค้าผ้าไหมผ้าฝ้าย และร้านเชียงใหม่ ประเภทสินค้าเครื่องไม้

...

“หัตถกรรมจากทรัพยากรหมุนเวียน” อีกหนึ่งเทรนด์อนาคตตัวอย่างเข้ากระแส...นับเนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ มลภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ

น่าสนใจว่า...หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของทศวรรษนี้ก็คือ “การกำจัดขยะมหาศาลที่เกิดจากการบริโภคอย่างไม่ยั้งคิดของมนุษยชาติ” นำมาซึ่งความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบทางตรง หรือวงจรการ “ผลิต–ใช้–ทิ้ง” ที่เราทุกคนคุ้นเคยไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

เพื่อยืดระยะเวลาใช้ในระบบ...สร้างขยะให้น้อยที่สุด

เมื่อสิ่งแวดล้อมคือประเด็นระดับโลกที่ทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง “ธุรกิจหัตถกรรมขนาดเล็ก” ระดับครัวเรือนหรือชุมชนย่อมยากจะหลีกเลี่ยงการปรับตัวตามแนวโน้มระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระบวนการ “Upcycling” หรือการนำขยะใช้แล้วจากอุตสาหกรรมหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอีกธุรกิจ

นักออกแบบที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์ทั่วโลก CRAFT CIRCU LARITY ในเชิงงานหัตถศิลป์ การนำวัตถุดิบที่ถูกกำจัดจากอุตสาหกรรมใหญ่มาผสมผสานกับงานฝีมือดั้งเดิม อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ด้านการสร้างสรรค์ เรื่องราวเบื้องหลัง การผลิตจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการตีราคาจากคุณค่ามากกว่าต้นทุน

งานหัตถศิลป์จึงเป็นงานที่ไม่มีขีดจำกัดและอนาคตสดใส ตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง

พรพล เอกอรรถพร
พรพล เอกอรรถพร

...

พรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” บอกว่า เรามีแผนสนับสนุนศักยภาพช่องทางการตลาดให้กับสมาชิกเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทั้งช่องทางออฟไลน์จากการจัดงานแฟร์และออนไลน์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

โดยเฉพาะตลาดต่างชาติที่ปัจจุบันสนใจผลงานที่มีเอกลักษณ์ นวัตกรรม ความละเอียดในชิ้นงานแบบไทยมากขึ้น เช่น สินค้าประเภทงานไม้ งานจักสาน งานผ้าไหม ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มลูกค้าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป

“แผนในปีหน้าเราจะผลักดันผู้ประกอบการออกงานแฟร์ต่างประเทศ จับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างตลาดการค้าแบบไร้พรมแดน โดยตลาดสำคัญขณะนี้ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป...เริ่มนิยมในสินค้าจากไทย ซึ่งคาดหวังว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเติบโตได้เป็นเท่าตัว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำก็คือ...การอนุรักษ์ สืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่คนไทย โดยดำเนินการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์

เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ สู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย กระจายรายได้สู่กลุ่มชาวบ้าน...ชุมชนผู้ผลิตงานหัตถกรรม ให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ

...

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ยั่งยืนด้วย...“ภูมิปัญญาไทย”.