น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยว่าเนื่องในวันที่ 7 กันยายนของทุกปี สมัชชาสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันสากลเพื่ออากาศสะอาดสำหรับท้องฟ้าสดใส โดย กรีนพีซ อินเดียได้เผยแพร่รายงาน “ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน : ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสุขภาพสากลที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ ในส่วนของไทย พบว่าประมาณร้อยละ 100 ของประชากรทั้งหมดได้รับฝุ่น PM2.5 มากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก เด็กทารกและผู้สูงอายุมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า ขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐในไทยยังมีน้อย ประชาชนในบางจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ในระยะรัศมี 25 กิโลเมตร

“รัฐบาลต้องประกาศใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และระบุให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในรายชื่อสารที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลการปล่อยสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ได้” น.ส.อัลลิยากล่าว.