คดีฉาวโฉ่สั่นสะเทือนหลายวงการ “ส.ต.ท.หญิงรับตั๋วเข้ารับข้าราชการเป็นกรณีพิเศษ” แล้วมีชื่อช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “แต่ตัวไม่ไปกลับได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มวันทวีคูณ” ที่ถูกอ้างเชื่อมโยงระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่อันมีสายสัมพันธ์กับ “ส.ว.” อยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจโดยมิชอบนี้

กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ใน กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการ สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับเงินเดือนประจำตำแหน่งและรับผลประโยชน์อย่างอื่นด้วย

ล่าสุด “กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ” เปิดชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง “ส.ต.ท.หญิงตั้งแต่อายุ 39 ปี” แล้วเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงตรวจสอบโครงสร้างตำรวจ พร้อมกับการแต่งตั้งชื่อไปช่วยราชการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ในเรื่องนี้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ข้อมูลว่า

การมีชื่อช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “แต่ตัวไม่ไปจริง หรือเรียกว่าบัญชีผี” เกิดมาตั้งแต่อดีตมี 2 แง่มุม คือ แง่มุมแรก...“หวังรับสิทธิพิเศษ” ผู้ใหญ่มักใช้เป็นช่องทางนำคนใกล้ชิดมารับสวัสดิการสิทธิประโยชน์อัตราช่วยราชการ ตั้งแต่เพิ่มวันนับทวีคูณ เบี้ยเลี้ยงสนาม ค่าเสี่ยงภัย และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อการสู้รบ

...

มุมที่สองคือ... “เบิกสวัสดิการตอบแทนคนทำงานจริง” เช่น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จชต.มีกำลังขาดแคลน 70 อัตรา แต่ตั้งขอบรรจุอัตราช่วยราชการ 100 อัตรา ทำให้ได้เกินมา 30 อัตรา ก็นำเงินจากบัญชีผีนั้นมาช่วยเป็นสวัสดิการตอบแทนผู้ปฏิบัติงานจริง แล้วคนขึ้นบัญชีผีจะไม่ได้เงินสวัสดิการแต่รับเพิ่มวันนับทวีคูณแทน

คราวนั้นก็เป็น “ลักษณะการเกื้อกูลต่อกัน” ด้วยเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.อยู่ส่วนหลังทำงานหนักช่วยสนับสนุนคนส่วนหน้าใน 3 จชต.เช่นกัน แต่ปรากฏว่า “คนอยู่ส่วนหลังไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ” เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ บางครั้ง “เปิดตำแหน่งส่วนเกิน” เพื่อนำชื่อผู้บังคับบัญชาใส่โดยไม่รับเงินสวัสดิการเพื่อขอเพิ่มวันนับทวีคูณนี้

ถัดมานับแต่ “ยกเลิกภัยสู้รบคอมมิวนิสต์” ปฏิบัติการทางทหารถูกยกเลิกทำให้ “บัญชีผี” ถูกละเว้นไปนานเริ่มปรากฏอีกครั้ง “ในความไม่สงบพื้นที่ 3 จชต.” ที่มีกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ก่อนเปลี่ยนมาเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามาปราบปรามแก้ปัญหาตรงนี้

ก่อนตั้ง “ศูนย์บัญชาการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จัดโครงสร้างหน่วยงานเปิดอัตรากำลังพลแบบบูรณาการหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนมาช่วยราชการในพื้นที่ทั้งหมดมีอยู่ 53 หน่วย แล้วก็เป็นเฉกเช่น “สมัยปราบปรามคอมมิวนิสต์” ที่มีการเปิดตำแหน่งช่วยราชการอัตราส่วนเกินสำรองในการบริการจัดการด้วย

ตรงนี้กลายเป็นช่องว่างขึ้นถ้าในช่วงใด “มีผู้บังคับบัญชาเป็นคนดีมีคุณธรรม” ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดปัญหา แต่ถ้าได้ “คนฉ้อฉล” มักนำคนของตัวเองมาบรรจุรับสิทธิเพิ่มวันนับทวีคูณ “ตอบแทนบุญคุณกัน” ในเรื่องมีตลอดจนมาถึง “ส.ต.ท.หญิง” ที่เป็นกรณีตอกย้ำให้เห็นว่าบัญชีผีใน 3 จชต.มีอยู่จริงเกลื่อนเต็มไปหมดในปัจจุบัน

ผลลัพธ์จะได้เมื่อ “เกษียณอายุราชการ” สิทธิเพิ่มวันนับทวีคูณจะถูกคิดคำนวณเป็นบำเหน็จบำนาญผลตอบแทน เช่น รับราชการ 20 ปี ก็จะบวกเพิ่มเป็น 22 ปี หรือ 25 ปี ได้รับเงินเกษียณราชการเยอะขึ้น

สาเหตุ “กำหนดสิทธิพิเศษให้พื้นที่ 3 จชต.” เพื่อเป็นแรงจูงใจต่อคนทำงานอย่างทุ่มเทต้องเผชิญ “ภัยอันตรายเกิดความเครียดตลอด” ได้มีกำลังใจจึงต้องมีสวัสดิการพิเศษเป็นค่าตอบแทนต่อความเสียสละนั้น

...

เรื่องนี้ในห้วงเวลาหนึ่ง “ตำรวจลงมาปฏิบัติงานใน 3 จชต.เยอะมาก” เพราะได้รับสิทธิพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้น “จนตำรวจบางนายครองยศไม่เท่ากัน” เช่น ตำแหน่งรอง ผกก.ต้องอยู่ครบ 3 ปี จึงสามารถขยับขึ้นได้ แต่ถ้ามาบรรจุช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มักได้รับสิทธิพิเศษอยู่ครบ 2 ปีก็เลื่อนขั้นได้แล้ว

กลายเป็นปัญหา “บัญชีผีเกิดขึ้นมากมาย” สุดท้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ยกเลิกศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.)” แล้วกลับมาใช้ “ตำรวจภูธรภาค 9” ดังเดิมเหมือนอดีต แต่อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน 3 จชต.อยู่นี้ยังได้รับสิทธิสวัสดิการ และเพิ่มวันนับทวีคูณเช่นเดิม

เพียงแต่การได้รับเพิ่มวันนับทวีคูณนั้น “ชื่อ” ต้องอยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้เกิดคำถามว่า “บางคนมีชื่ออยู่ครบแล้วตัวลงไปทำงานจริงหรือไม่” เพราะด้วยหน้างานจริงแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1.ฝ่ายยุทธการมักทำงานเชิงลับแทรกซึมในพื้นที่ “เพื่อหาข่าว 24 ชม.” ทำให้ยากจะมาลงชื่อทำงานรายวันได้

ด้านที่ 2.งานด้านธุรการ ทำงานเกี่ยวกับเอกสารเป็นหลัก โดยปกติต้องลงชื่อทุก 8 โมงเช้าอย่างกรณี “ส.ต.ท.หญิง” มีชื่อช่วยราชการฝ่ายธุรการ กอ.รมน.ภาค 4 กว่า 1 ปี “น่าจะทำหลักฐานเท็จกันขึ้นหรือไม่” จนได้รับสิทธิพิเศษนั้นไป ก่อนถูกเรียกกลับคืนทั้งหมดภายหลังถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายลูกจ้างตามข่าว

ประเด็นนี้เชื่อว่า “กรณี ส.ต.ท.หญิงวางแผนกันเป็นระบบไม่ธรรมดา” สังเกตตั้งแต่เข้ารับราชการอายุกว่า 39 ปี แถมวุฒิการศึกษาทั่วไปไม่ขาดแคลนพอรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะปกติข้าราชการรับผู้มีอายุเกิน 35 ปี ต้องเป็นข้อยกเว้นพิเศษจริงๆ เช่น ช่างเทคนิคเฉพาะด้านบวกประสบการณ์ 20 ปีเคยทำงานบริษัทชั้นนำมาก่อน

...

หนำซ้ำกลับไม่มีเหตุผลชี้แจงออกมาจาก “สตช.” เพียงแต่แถลงว่า “รับเข้าตามข้อยกเว้น” โดยไม่อธิบายรายละเอียดพิจารณาในหลักเกณฑ์ใด “สังคมกลายเป็นคลางแคลงใจ” ตั้งข้อสงสัยคิดกันไปเองว่า “ส.ต.ท.หญิงคนนี้” เข้ามาเพราะเป็นเด็กเส้นฝากกันเป็นตำรวจหรือไม่

แน่นอนว่า “พฤติการณ์นี้เข้าข่ายการทุจริตปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” จริงๆถ้าผู้บังคับบัญชา กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ และ คกก.จริยธรรมวุฒิสภา มีความจริงใจสอบสวนหาข้อเท็จจริงไม่เกิน 5 วัน “เรื่องทั้งหมดถูกเปิดเผยได้ไม่ยาก” เริ่มจากสอบสวนหัวหน้าแผนก และไล่สอบตามลำดับชั้นผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ

ย้ำต่อว่า “โครงสร้างการขอช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4” ตามหลักแบ่งเป็น 2 ขา คือ ขาแรก...กอ.รมน.ร้องขออัตรากำลังพลจากต้นสังกัดแล้วให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้คัดเลือกคนเหมาะสมมาช่วยราชการนั้น และ ขาที่สอง... กอ.รมน.ระบุตัวบุคคลก็ได้ อาจจะเกิดจากคนนั้นทำงานดีเด่น หรือมีความสามารถอะไรก็ตาม

เพราะด้วย “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้อำนาจ กอ.รมน.” ถ้าหากร้องขอไปแล้ว “ต้นสังกัดต้องส่งบุคคลมาทันที” ทำให้เห็นว่า “ส.ต.ท.หญิงคนนี้ไม่ธรรมดาเส้นใหญ่แน่นอนจากความสนิทชิดเชื้อผู้มีอำนาจ” ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากกลายเป็นเรื่องง่ายได้คงต้องสืบสวนหาคำสั่งให้ ส.ต.ท.หญิงนี้มาช่วยราชการกันอย่างไร...?

...

ตอกย้ำปัจจุบัน “บัญชีผีไม่ควรมีแล้ว” ด้วยค่าสวัสดิการเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัยค่อนข้างสูงมากกว่าเมื่อก่อนที่ “ค่าสิทธิประโยชน์น้อย” ทำให้จำเป็นต้องใช้บัญชีผีเบิกเงินมาบริหารสวัสดิการเพื่อคนปฏิบัติงานจริง

นั่นเป็นส่วนหนึ่งทำให้ “ประสิทธิภาพการทำงาน 3 จชต.ย่อหย่อน” เพราะกำลังพลสมัครใจไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละจริง เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ย่อมหมดอารมณ์เสียกำลังใจกลายเป็นตัวสะท้อนถึงระบบ “อุปถัมภ์ฝังรากลึกในสังคมไทย” เพราะหากมีผู้บังคับบัญชาเป็นคนมีคุณธรรม “บัญชีผี” ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน

หนักข้อกว่านั้นคือ “ส.ต.ท.หญิงสามารถใช้เส้นสายบรรจุ ส.ท.หญิง” เพื่อดึงมาช่วยเป็นแม่บ้านรับใช้เป็นการส่วนตัวอีก ตามหลักแล้ว “การดึงคนมาทำงานข้ามหน่วยสังกัดได้นั้น” ค่อนข้างทำได้ยากมาก ยกเว้นเป็นหน่วยเชิงบูรณาการ แต่กรณีนี้น่าจะใช้กลไกทางอ้อมระหว่างผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่คุยกันแล้วแอบทำกันแบบลับๆ

เพราะด้วย “การมีทหารบริการ หรือเรียกว่ากองร้อยบริการ” ส่วนใหญ่ต้องถูกนำมาทำงานในสำนักงาน หรือบ้านพักประจำตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น เพื่อดูแลทำความสะอาด หรือเดินส่งหนังสือ แต่ปัจจุบันกลับกลายต้องทำงานรับใช้ครอบครัวผู้บังคับบัญชาไปโดยปริยายก็มี ทั้งที่จริงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องด้วยซ้ำ

สุดท้ายนี้เชื่อว่า “ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก” กำลังจะถูกเปิดออกมาแก้ไขให้หมดจากสังคมไทยเพราะฝ่ายการเมืองมีความเข้มแข็งเดินหน้าขับเคลื่อนพิสูจน์ทราบของกรรมาธิการแต่ละชุด “ค่อยๆแกะรอยคนอยู่เบื้องหลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงสู่สาธารณชนให้เกิดความกระจ่างอย่างโปร่งใสนี้

ย้ำว่าช้าหรือเร็ว “ความจริงต้องปรากฏ” ด้วยยุคพลังโลกสื่อสารไร้พรมแดนจะไม่มีใครปิดหู ปิดตา ปิดปากคนทั้งประเทศได้เหมือนในอดีต แต่ “คนไทย” ต้องช่วยกันสอดส่องอย่างใกล้ “อย่าปล่อยผ่านไปโดยไม่มีคนรับผิดชอบถูกลงโทษ” เพราะปัญหาจะวนเวียนไม่ถูกแก้ไขสักวันก็จะเกิดมาอีก...