เชิดชูเกียรติ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ... “ครูช่างศิลปหัตถกรรม”...“ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ปี 2565 คัดเลือกเฟ้นหามาจาก 9 สาขา งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม ได้แก่ เครื่องไม้, เครื่องจักสาน, เครื่องดิน, เครื่องทอ (เครื่องผ้า), เครื่องรัก, เครื่องโลหะ, เครื่องหนัง, เครื่องกระดาษ, เครื่องหิน

สมคิด ด้วงเงิน อายุ 81 ปี คือผู้ที่ได้รับการคัดสรรเพื่อเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ประเภท “หัตถกรรมทองลงหิน” ซึ่งเขาทำงานนี้มานานกว่าค่อนชีวิต ภายใต้กลุ่ม “ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน”

ปูมประวัติคร่าวๆ สมคิดเป็นชาวพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 14 ปี หลังจากเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ไม่ได้เรียนต่อและคิดว่าจะหางานทำเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว จึงได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ที่โรงงานผลิตเครื่องทองลงหินตั้งอยู่ในชุมชนประดิษฐ์โทรการ

วันที่พ่อพาเข้ากรุงเทพฯ มาฝากไว้กับนายจ้าง ทิ้งเงินให้ติดตัวไว้ 5 บาท....จากวันนั้นก็ทำอาชีพนี้มาจนกระทั่งทุกวันนี้...ด้วยหลักคิดที่ว่า อาชีพนี้คือฝีมือและความตั้งใจของคนทำและไม่ได้ทำลายชีวิตของคนอื่น เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใคร ใช้ทักษะและฝีมือของตัวเอง

...

“ที่สำคัญผมมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและชีวิต คือการได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทยกว่า 67 ปี กับความมุ่งมั่นในอาชีพที่รัก...งานหัตถกรรมทองลงหิน จึงไม่ใช่แค่อาชีพ ...แต่มันคือ ชีวิตและหัวใจ”

แรกเริ่มมีโอกาสได้ทำงานเป็นลูกมือช่างฝึกหัด ด้วยใจรักบวกกับการทุ่มเทกับงานมีความวิริยะอุตสาหะ จึงได้รับหน้าที่ช่างทำงานเป็นช่างทองลงหินในชุมชนประดิษฐ์โทรการมาเป็นเวลา 7 ปี จึงตัดสินใจแยกออกมาทำเป็นกิจการของตัวเองจนถึงปัจจุบัน นับเป็นผู้อยู่ในยุคสมัยที่เชื่อมโยงการผลิตทองลงหินจากรุ่นสู่รุ่น

แนวความคิดสำคัญที่ประสบความสำเร็จ สมคิด ย้ำว่า เราต้องมีความมุ่งมั่นในการทำอาชีพ

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” มีภารกิจตรงในด้านการยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยโดยเฉพาะดูแลผู้ประกอบการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เรียกได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการผลิตไปจนถึงการสืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริมในทุกมิติอย่างยั่งยืน

พรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย บอกว่า เราเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาและส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

การคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า “sacit” ทำมาตั้งแต่ปี 2552 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาโดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงาน แขนงนั้นๆ

สำหรับปีนี้ มีทั้งหมด 25 ราย แยกเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” 2 ราย, ครูช่างศิลปหัตถกรรม 13 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม 10 ราย...เป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหาย น่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน, เครื่องสังคโลก, เครื่องประดับลงยาราชาวดี, งานปักสะดึงกรึงไหม ฯลฯ

ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติ ผลงาน, การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม, การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์

...

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาตราสินค้า การตลาด...ขายออนไลน์ นับรวมไปถึงพัฒนาทักษะฝีมือสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป

สุดท้ายนี้ พรพล ฝากว่า สำหรับใครที่ชื่นชอบและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทย หรืออยากที่จะร่วมพูดคุยกับครูท่านต่างๆโดยตรง ที่จะมาสาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา

เชิญไปได้ที่งานศิลปหัตถกรรมไทย งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8–11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา

ถัดมา “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2565 ชื่อ เอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ วิสาหกิจชุมชนเครื่องลงยาสีโบราณ ประเภทเครื่องลงยาสีร้อน เป็นงานหัตถกรรมที่เหลือผู้ทำน้อยราย เนื่องจากการลงยาสีร้อนต้องเป็นผู้มีทั้งใจรักในงานศิลปะ มีความอดทนและพยายามฝึกฝนเป็นเวลานานกว่าจะเกิดความชำนาญ

เครื่องลงยาสีเป็นศิลปะบนเครื่องใช้ เครื่องประดับ เป็นงานฝีมือที่พัฒนามาพร้อมกับการทำเครื่องทอง เครื่องเงินในสมัยโบราณ วิชาช่างที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี ความวิจิตรบรรจงของเส้นสายลายไทย แต่งแต้มด้วยยาสีหลากสีสันกับจินตนาการอันไร้ขอบเขต...ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

...

เทคนิควิธีการลงยาสีร้อนแบบโบราณเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เครื่องลงยาสีกลายเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่า การผลิตต้องใช้ความประณีตอย่างมาก ซึ่งเหลือช่างที่มีประสบการณ์เพียงไม่กี่คนในเมืองไทยแล้ว

ย้ำว่า “ครูศิลป์ของแผ่นดิน”...เป็นบุคคลชั้นบรมครูผู้อนุรักษ์ รักษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในงานศิลปหัตถกรรมสั่งสมสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันด้วยทักษะฝีมือเชิงช่างชั้นสูง เปี่ยมด้วยประสบการณ์ ความชำนาญสร้างสรรค์ผลงานประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

...

ที่สำคัญ...ได้รับการยอมรับในทักษะฝีมือที่ล้ำเลิศยากที่จะหาใครเทียบ โดยคงคุณค่าภูมิปัญญาตามแบบฉบับดั้งเดิมไว้อย่างแท้จริง ตลอดจนเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูผู้ถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญา สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน คนในชุมชน เครือข่าย หรือผู้สนใจทั่วไปโดยไม่หวงวิชา

...เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังในการดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่างานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่สืบไป

ส่วน “ครูช่างศิลปหัตถกรรม”...เป็นบุคคลผู้มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรม รักษาคุณค่าองค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่สะท้อนในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดสร้างงานศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าด้วยความละเอียด ประณีต งดงาม มีจิตวิญญาณครู

สุดท้าย “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”...เป็นบุคคลผู้สืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษหรือครูอาจารย์ หรือรับการถ่ายทอดจากช่างฝีมือผู้อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรม มีความมุ่งมั่น ใฝ่เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สืบสานงานศิลปหัตถกรรมหรือถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบสานดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ

...มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะฝีมือเชิงช่าง นำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาปรับประยุกต์สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อเสริมสร้างคุณค่าของผลงานศิลปหัตถกรรมให้ดำรงอยู่ได้ในวิถีปัจจุบันต่อไป

อยากให้ทุกคนได้ภาคภูมิกับงานศิลปหัตถกรรมจากฝีมือคนไทย ที่มีทั้งความประณีต บอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมสะท้อนคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย

ซอฟต์เพาเวอร์...สุดยอดช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมไทย เชิดชู...ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม มุ่งสืบสาน สร้างสรรค์ ต้องส่งเสริมกันอย่างยั่งยืน.