นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เผยถึงความกังวลของการเลี้ยงปลาสวยงามเรืองแสง ว่า ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ด้วยเทคนิคการนำยีนที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA เพื่อควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความสวยงามและแปลกตา

...

“แต่เดิมปลาเรืองแสงมีไม่กี่ชนิด ได้แก่ ปลาเสือเยอรมัน ปลาม้าลาย ปลากลุ่มเตตร้า ปลาเทวดา ปลากาแดง แต่ล่าสุดมีการนำปลากัด มาดัดแปลงพันธุกรรมให้กลายเป็นปลากัดเรืองแสง และเริ่มออกขายในตลาดปลาสวยงามมาได้กว่า 1 ปีแล้ว เป็นสิ่งที่อันตรายต่อวงการปลากัดไทยอย่างมาก เพราะปลากัดของไทยโด่งดังไกลทั่วโลก จนมีลูกค้าที่ต้องการปลากัดของไทยจากทั่วโลก มีตลาดค้าขายปลากัดไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละมากกว่า 200 ล้านบาท”

อธิบดีกรมประมงเผยอีกว่า “ปัจจุบันนานาชาติโดยส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับเรื่องของ GMOs ในสิ่งมีชีวิต เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนแล้ว ยากที่จะเอาออก ทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่น่ากังวล ประกอบกับประเทศ ไทยได้มีการลงนามในพิธี สารคาร์ตาเฮนา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMOs จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์”

“หากประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ นอกจากนั้นผู้เพาะเลี้ยงยังมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1-2 ปี ปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท กรมประมงจึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงามที่เพาะเลี้ยงและมีครอบครองอยู่ ขอให้ส่งให้กรมประมงได้ตั้งแต่ 1 ก.ย. ถึง 30 พ.ย.2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงทั่วประเทศ หรือสำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด”

...

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทร.0-2562-0426 หรือ Website กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด : https://www4.fisheries.go. th/local/index.php/main/site/ifdd หรือ Facebook Page : https://www. facebook.com/ aquaticplantandor namentalfish