การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือโลกร้อน ส่งผลกระทบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ปัจจุบันร้อยละ 25 ของประชากรโลกประสบกับวิกฤติน้ำแล้วและจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายในปี 2568

ถึงแม้ว่าในแต่ละปีจะมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะหลังๆฟ้าฝนเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนถึงความไม่แน่นอน หลายประเทศที่ประสบกับปัญหาแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั่วโลกควรหาหนทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการผลิต ทั้งเพาะปลูกและอุตสาหกรรมด้วยการหันมาใช้ “น้ำบาดาล” เป็นน้ำต้นทุน แต่ทว่าน้ำบาดาลนั้นอยู่ใต้ดินไม่สามารถมองเห็น ทั้งจับต้องไม่ได้ จึงยากที่จะโน้มน้าวจิตใจของผู้คนให้หันมาใช้น้ำบาดาล

...

ดังนั้น นักวิชาการด้านน้ำทั่วโลกจึงรณรงค์ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงความสำคัญ ของน้ำบาดาล โดยปีนี้ในวันน้ำโลก หรือ World Water Day องค์การสหประชาชาติ ได้เน้นถึงคุณค่าความสำคัญและการมีอยู่ของน้ำบาดาล ภายใต้หัวข้อ Ground water : making the invisible visible

จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้จัดงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อน้ำบาดาล : กุญแจสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (1st Thailand Groundwater Symposium: Key to Water Security and Sustainability) มีผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน จาก 20 กว่าประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฮังการี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค.2565

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

“ที่ประชุมได้ร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบาดาล มุ่งเน้นการขยายองค์ความรู้ไปยังองค์กรพันธมิตรระดับนานาชาติให้เกิดเป็นเครือข่ายและสร้างพันธมิตรระดับโลก รวมถึงแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ผลการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำบาดาล และยกระดับความสำคัญของน้ำบาดาลในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในการถ่ายทอดองค์ความรู้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการขุดเจาะบ่อบาดาลหลังพบว่าหลายประเทศทั้งแถบยุโรปและอเมริกาใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำหลักในการอุปโภค-บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมากขึ้น เช่น เดนมาร์ก ใช้น้ำบาดาลอุปโภค-บริโภคเกือบ 100% สหรัฐฯ ใช้น้ำบาดาลเพื่ออุปโภค-บริโภคเกินครึ่งประเทศ ส่วนประเทศไทย เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำบาดาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนา และเติบโตอย่างก้าวกระโดดและได้ดำเนินการเจาะบ่อบาดาลกว่า 10,000 บ่อ ถือว่าเป็นการพลิกโฉมน้ำบาดาลของประเทศไทย ทำให้ช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับพื้นที่วงกว้างมากขึ้น แต่น้ำบาดาลก็มีวันหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ทส.กำลังดำเนินการคือการสำรวจแผนที่น้ำบาดาลทั่วประเทศ โดยจะเร่งสำรวจเพื่อทำแผนที่น้ำบาดาลเพื่อเพิ่มศักยภาพการหาแหล่งน้ำขุดเจาะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงผลการประชุม

...

รมว.ทส.ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำบาดาลในไทยด้วยว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะ สามารถขุดเจาะลึก ถึง 1,000 เมตรได้แล้วหลายพื้นที่ ทำให้ช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบมีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำและชั้นผิวดิน ทำให้มีการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดิน จึงได้ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งตรวจสอบและหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่าน้ำบาดาลแม้จะมีศักยภาพสูงที่ช่วยกักเก็บน้ำและนำขึ้นมาใช้ได้ในปริมาณมาก แต่มีวันหมดไปเช่นเดียวกับน้ำบนดิน จึงอยากให้ช่วยกันปกป้องและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลให้คงอยู่และใช้ไปจนถึงอนาคต

ที่สำคัญ ทส.ยังได้นำผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 20 ประเทศไปเยี่ยมชมโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านพยอมงาม ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด และทรงรับโครงการดังกล่าวไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระองค์ท่านทรงเน้นแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี คุณภาพน้ำดี สามารถดื่มได้ โดยโครงการดังกล่าวได้มีการสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลโดยทีมงานนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ และออกแบบก่อสร้าง ควบคุมงานโดยทีมวิศวกรผู้มีประสบการณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

...

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์
ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

“ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามหัศจรรย์มาก so amazing ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แปลกใจและภาคภูมิใจมากๆ และชื่นชมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและเป็นต้นแบบของการทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้สามารถมองเห็นและจับต้องได้ Dr.Jim LaMoreaux ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบาดาล ผู้คร่ำหวอดด้านน้ำบาดาลจากประเทศสหรัฐฯ ถึงกับระบุว่านี่เป็นโครงการต้นแบบที่สมบูรณ์แบบมากๆ สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลอย่างชาญฉลาด เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และมีความยั่งยืนในอนาคต และคิดจะนำไปเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ นี่คือความภูมิใจในฐานะคนไทย ที่น้ำบาดาลสามารถเป็นตัวอย่างให้โลกรับรู้” นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลของการประชุมระดับชาติครั้งนี้ จะถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด เพราะหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งและต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำกิน-น้ำใช้ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

...

แม้ว่าช่วงเวลานี้จะมีพายุฝน แต่ที่ผ่านมาเกือบทุกปีก็จะมีสภาพการณ์เช่นนี้และไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้และจะแล้งหนักขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่สิ่งที่เราอยากฝากไว้คือความต่อเนื่องในการร่วมแรงร่วมใจ ร่วมระดมสมองในการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

อย่ารอให้ธรรมชาติลงโทษแต่ฝ่ายเดียว.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม