ด้วยความเชื่อว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงเดินหน้าอย่างสุดกำลังในภารกิจยกระดับคุณภาพการศึกษา อันเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ "คน" และ "สังคม" โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรและอนาคตของชาติ เกิด "การเรียนรู้" อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างมั่นคงในระยะยาว ตามหลัก ESG ที่บริษัทยึดถือเสมอมา

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บ้านปูจึงได้เข้าร่วม “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” หรือ “Partnership School Project” ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิหรือสถาบันที่สนับสนุนด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี 2561 โดยหวังให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งยกระดับคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชนและชุมชนในพื้นที่ ทำให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อย ๆ ลดช่องว่างลงทีละน้อย

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีเป้าหมายเพื่อ “จุดประกาย”

ที่ผ่านมากลุ่มบ้านปูได้สร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ งบประมาณ รวมถึงบุคลากรของบริษัทฯ ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนระดับตำบลในเครือข่าย 3 โรงเรียน ได้แก่

⦁ โรงเรียนโนนสะอาดพิทยา จ.ขอนแก่น

⦁ โรงเรียนชุมชนโพนงามโพนสวาง จ.มหาสารคาม

⦁ โรงเรียนร่องคำหงษ์ทองวิทยา จ.ร้อยเอ็ด

ซึ่งการสนับสนุนโรงเรียนทั้ง 3 แห่งนี้ นับเป็น “การร่วมพัฒนาระยะยาว” ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานของบ้านปู คุณครู และคณะบริหารของโรงเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนตอบโจทย์การสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นต่อโลกสมัยใหม่ โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา อาทิ การเติมทักษะให้ครูผู้สอน การวางแผนดำเนินกิจกรรม เพื่อสนับสนุนด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้น “ความเป็นเลิศด้านวิชาการ นวัตกรรม เทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ พัฒนาผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21” ทำให้โครงการ Partnership School Project มีลักษณะแตกต่างจากกิจกรรม CSR ทั่วไป เพราะเป็นการช่วยเหลือในการพัฒนาการบริหารการศึกษาในภาพรวมของทั้งโรงเรียนให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารสถานศึกษา ทำให้โรงเรียนมีความคล่องตัวในการบริหาร สามารถยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีตัวอย่างการร่วมพัฒนาที่นับว่าเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี เช่น

ด้านวิชาการและนวัตกรรม

ช่วยยกระดับการเรียนการสอนด้วยแนวทาง Active Learning โดยการนำเทคนิคการสอนรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย การนำเอาแอปพลิเคชันและสื่อออนไลน์มาประกอบ การสอนวิทยาการคำนวณ (Computing Science) เพื่อฝึกการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การส่งเสริมกิจกรรม 1 ห้องเรียน 1 นวัตกรรม รวมถึงการจุดประกายความคิด การสร้างกำลังใจในการทำงาน การพัฒนาเด็ก ๆ และทำให้โรงเรียนในโครงการเป็นที่ศึกษาดูงานของโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง

ด้านเทคโนโลยีและไอที

มุ่งเน้นให้ครูและนักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะด้านไอที เพื่อเปิดโลกกว้างอย่างไม่มีสิ้นสุด พร้อมกันนั้นยังแนะนำการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและการบริหารจัดการของโรงเรียนในหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 ด้วยการเรียนแบบออนไลน์ผ่าน Google Classroom, Line Meeting, Facebook Messenger และแอปพลิเคชันต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการเข้ากับระบบสนับสนุนการบริหารจัดการสถานศึกษา (School Management Support System: SMSS) เพื่อนำเสนอการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น การสร้างหุ่นยนต์ การตัดต่อภาพยนตร์ ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและไอที ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะจนสามารถไปคว้ารางวัลมาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักเรียนเพื่อใช้ในการต่อยอดเรียนรู้ได้ในอนาคต

ด้านภาษาอังกฤษ

เช่นเดียวกับเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเองก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้โลกยุคใหม่ “บ้านปู” ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ก็เห็นความสำคัญในส่วนนี้ และสนับสนุนงบประมาณจ้างครูภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการเสริมทักษะด้านภาษาให้กับเยาวชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเชิงวิชาการ และกิจกรรมส่งเสริมการนำไปใช้ ทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีทักษะภาษาอังกฤษดีขึ้น

ด้านทักษะชีวิต และการเรียนรู้ระดับชุมชน

ไม่เพียงการสนับสนุนในเชิงวิชาการ บ้านปูยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน สอดคล้องไปกับแนวคิดการร่วมพัฒนาในโครงการนี้ของบ้านปูที่มองว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” และต้องการให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมที่มุ่งหวังให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักเรียน เพื่อมองหาทักษะอาชีพที่สนใจและสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต อาทิ กิจกรรมตัดผมชาย ทำขนม ทำมาลัย งานดอกไม้ประดิษฐ์ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักไฮโดรโปนิคและในแปลงปลูก รับจัดดอกไม้ และวงดนตรีพื้นเมือง เป็นต้น โดยกิจกรรมเหล่านี้ผู้ปกครองก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ได้เช่นกัน ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทั้งครูผู้สอน เด็กๆ และผู้ปกครอง จะเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้สอนภายในและภายนอกโรงเรียน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มพูนทักษะและแนวคิดใหม่ ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

จากจุดเริ่มต้นที่เกิดจากการมุ่งมั่นเดินหน้าธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG ที่บ้านปูยึดถือ นำมาสู่ผลลัพธ์ของการลงมือทำด้วยความตั้งใจจริง สะท้อนผ่านผลการเรียนของเด็ก ๆ ในโครงการฯ ที่ยกระดับขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ ผลการสอบ O-NET ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และการสอบ NT ในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 รวมทั้งการสอบ RT ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างน่าพอใจ นับเป็นรางวัลแห่งความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในโรงเรียนที่สามารถเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ให้เยาวชนไทยได้อย่างเห็นผล

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนับเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า การร่วมมือในระยะยาวตามแนวทางของโครงการ Partnership School ที่บ้านปูได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในครั้งนี้ สามารถช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ให้ค่อย ๆ เติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต