คนไทยกับ “การเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง” ถือเป็นเรื่องที่คู่กันมาอย่างยาวนาน ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน การซื้อหวยรัฐ หรือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือแม้แต่กระทั่ง “หวยใต้ดิน” ก็ถือเป็น “ความหวัง” ของคนไทยที่จะมีโอกาสกลายเป็นเศรษฐีได้ภายในพริบตา

โดยในแต่ละงวด “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” พิมพ์ลอตเตอรี่ ออกขายให้กับคนไทยงวดละ 100 ล้านใบ เพื่อตอบสนองความหวังของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล

จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี สำนักงานสลากฯ นำส่งรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นทุกปี จาก ปี 62 นำส่งรายได้ 41,915 ล้านบาท ปี 63 เพิ่มเป็น 46,598 ล้านบาท ปี 2564 เพิ่มเป็น 51,124 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 นำส่งรายได้เข้ารัฐ 38,997 ล้านบาท

ส่งผลให้ติดอันดับ 1 ใน 5 รัฐวิสาหกิจ ที่นำส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุด

...

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่กัดกินใจของ “คอหวย” เมืองไทยมายาวนานก็คือ หวยแพง เกินใบละ 80 บาท ยิ่งเป็นเลขล็อก เลขดัง เลขเด็ด พุ่งไปถึงใบละ 120 บาทก็มี ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้ซื้อ

และที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ ก็ปักธงที่จะแก้ปัญหา “สลากแพง” ให้ได้ เช่นเดียวกับรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้ตั้งเป็นธง ที่จะแก้ไขสลากแพงให้ได้ นับตั้งแต่บริหารประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี

แต่จากวันนั้น เมื่อเดือน พ.ค.57 จนถึงวันนี้เดือน ส.ค.65 เกือบ 8 ปี สลากเกินราคา หรือหวยแพง ยังคงมีอยู่!! การแก้ปัญหาหวยแพง จึงเป็นความท้าทายความสามารถของรัฐบาล และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่า เมื่อไร? จะแก้ปัญหาได้จริงเสียที

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาล “มือปราบ” สลากเกินราคา ว่า หวยแพงจะยังคงมีอยู่ หรือจะจบในรัฐบาลนี้

“สลากดิจิทัล” เขย่าวงการหวย

เริ่มต้นการพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจ “ลวรณ” เล่าให้ฟังถึง ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคา ว่า “การขายสลากเกินใบละ 80 บาทเกิดขึ้นมานานมาก และเกิดจากหลายสาเหตุ ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องใช้หลายวิธีการ และหลายมาตรการควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มจำนวนสลาก ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจนมาถึงงวดละ 100 ล้านใบ”

รวมถึงการหาช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น โดยล่าสุดการขายสลากหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หลังจากที่คนไทยคุ้นเคยกับการเข้าอินเตอร์เน็ตและใช้ระบบการซื้อขายออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จากโครงต่างๆ ของรัฐบาลมาแล้ว

ส่งผลให้การเปิดขาย “สลากดิจิทัล” ซึ่งจำหน่ายผ่านแอปฯเป๋าตัง ซึ่งสามารถขายได้ในราคาใบละ 80 บาท และซื้อเลขเดียวกันได้หลายใบ ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก โดยนับตั้งแต่เริ่มจำหน่ายเดือน มิ.ย.65 จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 5 งวด เฉลี่ยขายหมดภายใน 2-5 วัน

ที่สำคัญ ทำให้คนไทยมีทางเลือกซื้อสลาก 80 บาทมากขึ้น และรับรู้ได้ว่า สลาก 80 บาท มีอยู่จริง จากงวดแรก เริ่มจำหน่ายเพียง 5.17 ล้านใบ วันนี้สำนักงานสลากฯ เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่า “สลากดิจิทัล” จะสามารถเป็นกลไกทำให้สลากใบที่ขายเกินราคาในท้องตลาดขณะนี้ ปรับลดลงมาขายใบละ 80 บาทได้ จึงทยอยเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลให้มากขึ้นเรื่อยๆ และตั้งเป้าหมายให้ได้ 20 ล้านใบภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม นายลวรณ มองว่า “การขายสลากดิจิทัลหมดในเวลารวดเร็ว ไม่ใช่เรื่องดี เพราะเมื่อหมดเร็ว กลไกทุกอย่างจะกลับสู่วังวนเดิม ราคาสลากในตลาดก็กลับมาเกินราคาเหมือนเดิม จริงๆแล้ว สำนักงานสลากฯ ต้องการให้การจำหน่ายสลากดิจิทัล มีระยะเวลาการขาย 7-10 วัน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการซื้อสลาก 80 บาท ก็มาซื้อสลากดิจิทัล ที่มีขายตลอดเวลา จึงต้องเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลให้มากพอ”

เปิดจุดขายสลาก 80 บาททั่วไทย

นอกจากนั้น ควบคู่กับการขายสลากดิจิทัล สำนักงานสลากฯ ยังเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาขายเกินราคา คือ การเพิ่มจำนวนผู้ค้ารายใหม่ โดยล่าสุด ได้ประกาศผลการคัดเลือกผู้ค้ารายใหม่เพิ่มอีก 70,000 รายไปแล้ว จากเดิมมีอยู่แล้ว 110,000 ราย

...

กติกาก็คือ ผู้ค้าเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กของสำนักงานสลากฯ คือ การเป็นผู้ขายสลากตัวจริง โดยนำสลากที่รับมาในราคาใบละ 70.40 บาท ไปขายใบละ 80 บาทเท่านั้น โดยการขายจะได้กำไรต่อใบ 9.60 บาท

หากคำนวณตามโควตาที่ได้รับจัดสรรงวดละ 500 ใบต่อผู้ค้า 1 ราย ใช้เงินลงทุนงวดละ 35,200 บาท หากขายใบละ 80 บาททั้ง 500 ใบ จะได้กำไรงวดละ 4,800 บาท หรือเดือนละ 9,600 บาท สำนักงานสลากฯ เชื่อว่า เป็นกำไรที่พออยู่ได้ และเหมาะสม

“หวังว่าผู้ค้ารายใหม่ 70,000 ราย ที่เราคัดเลือกอย่างดีแล้วจะขายสลากใบละ 80 บาทให้ผู้ซื้อได้ เพื่อให้คนซื้อสลาก มีทางเลือกซื้อสลากในราคา 80 บาทเพิ่มเติม จากการซื้อผ่านระบบดิจิทัลเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ซื้อไม่ได้เข้าถึงระบบดิจิทัลได้ทุกคน เราจึงมีทั้งสลากใบ และสลากดิจิทัล เพื่อให้ผู้ซื้อมีทางเลือก แต่ต้องซื้อได้ใบละ 80 บาท”

อีกทั้งการเพิ่มผู้ค้าสลากตัวจริง เข้าสู่ระบบอีก 70,000 คน เชื่อว่า จะเป็นกลไกช่วยให้การขายสลากเกินราคา ลดลงได้ เพราะสำนักงานสลากฯ ตั้งใจให้ผู้ค้าเหล่านี้ นำสลากไปขายปลีกให้ผู้ซื้อใบละ 80 บาท

...

ผู้ค้ารายใหม่เหล่านี้ จะช่วยเสริมแรงกับ “โครงการสลาก 80” หรือ การขายสลากใบในราคาใบละ 80 บาทผ่านตัวแทนขายทั่วประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานสลากฯ ขณะนี้มีราว 1,000 จุดทั่วประเทศ กระจายอยู่ในแหล่งชุมชนต่างๆ ผู้ซื้อหาซื้อได้ง่าย สะดวก และจ่ายเงินผ่านแอปฯเป๋าตัง

สำนักงานสลากฯ มีเป้าหมายจะขยายจุดจำหน่ายสลาก 80 เพิ่มเติมตามสถานีบริการน้ำมัน อีก 2,000 จุดทั่วประเทศ ซึ่งได้หารือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เจ้าของปั๊มน้ำมันพีทีที สเตชันและบริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เจ้าของปั๊มบางจากแล้ว

โดยคาดว่า ในปีนี้จะเห็นจุดจำหน่ายสลาก 80 กระจายอยู่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อหาซื้อสลาก 80 ได้ง่ายยิ่งขึ้น และสะดวกยิ่งขึ้นอีก

“สำนักงานสลากฯหวังว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ซื้อสลาก เริ่มรับรู้ได้ว่า จะซื้อสลาก 80 บาทได้ที่จุดใด แหล่งใด เพราะมีช่องทางให้เลือกซื้อสลากใบละ 80 บาทกระจายทั่วประเทศ และยังอยู่บนมือถือของผู้ซื้อด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสลากฯ จะ “สร้างสมดุล” ระหว่าง “สลากใบ” กับ “สลากดิจิทัล” เมื่อมีความสมดุลแล้ว กลไกตลาดจะช่วยทำให้ราคาสลาก 80 บาทมีอยู่จริง หาซื้อ ได้ง่าย จากช่องทางการซื้อที่หลากหลาย ที่ได้จัดสรรเข้าสู่ 3 ระบบ คือ 1.ระบบตัวแทนจำหน่าย 2.ระบบซื้อจองล่วงหน้า และ 3.ระบบดิจิทัล

เดินหน้าปราบสลากเกิน 80 บาท

ประธานบอร์ดสลาก เล่าต่อว่า นอกจากวิธีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสลาก ให้ผู้ซื้อมีทางเลือกแล้ว ในมุมของการปราบปรามการจำหน่ายสลากเกินราคา ยังคงต้องดำเนินการควบคู่กันอย่างจริงจัง

...

โดยได้มีการสแกนผู้ค้า และวิธีการค้าสลากอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการนำสลากไปขายยกเล่ม หรือเอาไปขายต่อ และสำนักงานสลากฯ ตรวจสอบ และพิสูจน์ได้ว่า เป็นการนำไปขายยกเล่มจริง จะตัดสิทธิ์ผู้ที่นำไปขายต่อจากการเป็นผู้ค้าสลากทันที และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย

เพราะเราต้องการผู้ขายสลากตัวจริง ไม่ใช่มาลงทะเบียนเป็นผู้ค้าสลากแล้ว เอาเปรียบผู้ซื้อ ถือว่าผิดกติกาที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องลงโทษ และตัดสิทธิ์โควตาการเป็นผู้ค้าสลาก

“การแก้ไขปัญหาที่จะสำเร็จได้ จะต้องทำควบคู่ไปกับการปราบ ปรามที่เข้มข้น สำนักงานสลากฯ ต้องทำกติกาให้เป็นกติกา สัญญาที่ผู้ค้าสลากได้ทำไว้กับสำนักงานสลากฯ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ต้องขายเอง หากนำไป ขายยกเล่ม ถือว่าไม่ยุติธรรมกับคนอื่นๆ รวมทั้งผู้ซื้อด้วย”

ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเพิ่มบทลงโทษผู้ค้าสลากเกินราคา จากปัจจุบันปรับไม่เกิน 10,000 บาทให้สูงขึ้นนั้น คณะกรรมการด้านกฎหมาย อยู่ระหว่างการศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ให้ทันสมัย โดยเฉพาะบทปรับ และบทลงโทษผู้กระทำความผิดข้อตกลงกับสำนักงานสลากฯ ซึ่งคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

“การแก้ไขกฎหมาย ที่เป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะทำไม่ได้เร็ว ต้องใช้เวลา จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รัดกุม รอบคอบ และเมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป”

จ่อทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ “หวย 3 ตัว”

ทั้งนี้ ในขณะที่ สำนักงานสลากฯ เดินหน้าที่จะใช้สลากดิจิทัล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการขายให้ตอบโจทย์เพื่อสกัด “จบยุคการขายสลากเกินราคา” สำนักงานสลากฯ ยังมีความพยายามหาทางเลือกใหม่ที่จะตอบโจทย์ “คอหวย” มากขึ้น โดยให้สามารถซื้อขายได้ในลักษณะใกล้เคียงกับ “หวยใต้ดิน” ซึ่งถือเป็นการเสี่ยงโชคที่ผิดกฎหมาย

ล่าสุด สำนักงานสลากฯ เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (NUMBER 3 : N3) หรือที่เรียกว่า “หวย 3 ตัว” ซึ่งเป็นการขายสลากเลข 3 ตัวผ่านระบบดิจิทัล

โดยขณะนี้ การออกสลากดังกล่าว ยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ครบถ้วน และล่าสุด ยังอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำเสนอแนวคิดหลักให้บอร์ดสลากฯพิจารณาในเดือน ก.ย.นี้ และเมื่อบอร์ดให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องนำเสนอให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ

“การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว และยังต้องแก้ไขในรายละเอียด เพราะทุกอย่างมีขั้นตอน มีกระบวนการ รวมถึงต้องให้มั่นใจว่า ทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต้องใช้เวลาอีกนาน คาดว่าราวๆปีหน้า ถึงจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน”

นอกจากนี้ เมื่อออกหวย 3 ตัวแล้ว ต้องมั่นใจว่า จะช่วยแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้จริง และเป็นความต้องการของตลาดจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกรงว่า จะสร้างความสับสน และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

ในปีนี้ จึงต้องการให้โฟกัส เรื่อง สลากดิจิทัล เป็นหลัก แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์เดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบการขาย ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องจริงจัง และให้ความสำคัญอย่างมาก และจากวิธีการทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้น ทำให้เรามีความหวังว่า จะทำให้การจำหน่ายสลากเกินราคา ได้รับการแก้ไข และสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ทำให้ผู้ซื้อ มีทางเลือก และตัดสินใจได้เองว่า จะซื้อสลาก 80 บาท หรือเกิน 80 บาท

“เราเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อสลากจะเปลี่ยนไป ผู้ซื้อจะเลือกซื้อในจุดที่มีสลากขายในราคาใบละ 80 บาท แล้วจะปฏิเสธการซื้อสลากที่ขายเกินใบละ 80 บาท มั่นใจว่า ผู้บริโภคจะมีพลังตรงนี้ และทำให้สลากราคา 80 บาทมีอยู่จริง”.

ทีมเศรษฐกิจ