กรมวิชาการเกษตรวิจัยเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี พบสารสกัดมีฤทธิ์กำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนได้ผล หลังลุยทดสอบในแปลงปลูกทุเรียนภาคใต้มา 3 ปี ช่วยลดต้นทุนค่าสารเคมีได้ถึง 70%

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียนที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา Phytop thora palmivora เป็นโรคที่สำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอย่างมาก เพราะการป้องกันกำจัดทำได้ยาก แม้จะใช้สารเคมีได้ก็ตาม แต่การระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้เกษตรกรใช้สารเคมีกันมากขึ้นส่งผลให้เชื้อราไฟทอปธอรามีการพัฒนาและดื้อยา

“ที่ผ่านมา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยหาวิธีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยชีววิธี ด้วยการนำสารสกัดจากเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีผสมกับสีฝุ่น ไปทาบนแผลที่เป็นโรครากเน่าโคนเน่าเพียงครั้งเดียว เราพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ประมาณ 1 ปีโดยที่แผลยังแห้ง ไม่มีน้ำเยิ้ม และเชื้อไม่ขยายลุกลาม ซึ่งแตกต่างจากวิธีการใช้สารเคมีเมทาแลกซิล 25% WP ที่เกษตรกรนิยมใช้ในปัจจุบัน ที่ต้องทาซ้ำทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง”

...

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยอีกว่า หลังจากคณะนักวิจัยนำสารสกัดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าไปลงพื้นที่ทดสอบกับสวนทุเรียนในเขตพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อ.กะปง จ.พังงา อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มาตั้งแต่ปี 2563-2565 ปรากฏว่าสามารถควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไฟทอปธอราในทุเรียนได้จริง จนเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่ เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายถูกกว่าใช้สารเคมีได้มากถึง 70% จากที่เกษตรกรเคยใช้สารเคมีกำจัดโรครากเน่าโคนเน่ามีต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 1,800 บาทต่อปี แต่ใช้สารสกัดเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีผสมกับสีฝุ่นมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 500 บาทต่อปีเท่านั้นเอง

“ผลงานวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรในปี 2566 เพราะรูปแบบการผลิตขยายและวิธีการใช้ที่ง่าย เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ จะส่งผลให้มีระบบการผลิตพืชที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม” นายระพีภัทร์ กล่าว.

...