“แม้ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์กันมากขึ้น แต่ยังมีเกษตรกรอีกไม่น้อย ยังคงทำเกษตรไม่ต่างจากในอดีต มักอาศัยความเชื่อและวิถีการทำไร่ไถนาที่สืบทอดต่อกันมา พึ่งพาดินฟ้าอากาศ ทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน ที่สำคัญส่วนใหญ่ขาดการเก็บข้อมูลแปลงเกษตรอย่างเป็นระบบ อันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่วันนี้มีตัวเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ และนี่คือนวัตกรรมใหม่ที่จะนำเสนอ”
ส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อธิบาย...เทคโนโลยีแรก
“ลิสเซินฟิลด์” (ListenField) ฟังทุกข้อมูลจากดินฟ้าอากาศและชาวนาสู่แปลงเกษตรที่แม่นยำ เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการเกษตรที่เก็บข้อมูลหลายมิติ เพื่อทำแบบจำลอง วิเคราะห์ พยากรณ์ ด้านสภาพอากาศและพืช สำหรับให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับองค์กรธุรกิจภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สามารถให้บริการเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายทั้งแอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บแดชบอร์ด และส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์
...
โดยหัวใจสำคัญคือการเพิ่มคุณภาพผลผลิต การลดต้นทุน การบริหารความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย นวัตกรรมนี้เปรียบเสมือนตัวแทนผู้รับฟังเสียงจากดิน ฟ้า อากาศ และพืชผล และนำมาบอกต่อเพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักเพาะปลูกได้เติมสิ่งที่แปลงเกษตรมีความต้องการ เพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ และตรงใจผู้บริโภค ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
เทคโนโลยีตัวต่อมาคือ “Zyan Dairy Farm” ตัวช่วยบันทึกทุกข้อมูลการเลี้ยงวัวแบบละเอียด...ต่อไปนี้การจดบันทึกข้อมูลการเลี้ยงโคลงในสมุดกระดาน หรือปฏิทินตามแต่ความสะดวกของเกษตรกร อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลประสิทธิภาพของโคนมไม่สมบูรณ์ จนไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตโคและการบริหารจัดการฟาร์มจะหมดไป เมื่อ บริษัท ซินเทลลิเจนท์ จำกัด ออกแบบและพัฒนา “Zyan Dairy Farm” แอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์ ตอบโจทย์คนเลี้ยงโคนมมากที่สุด ใช้งานง่าย สะดวก
ประกอบไปด้วยฟังก์ชันช่วยบันทึกข้อมูลที่สำคัญ เช่น บันทึกพันธุ์ประวัติโค ข้อมูลการผสมพันธุ์ การตั้งท้อง การตลาด ฟังก์ชันระบบการแจ้งเตือนกิจกรรมที่เกษตรกรต้องดำเนินการในแต่ละวัน รวมถึงมีฟังก์ชันระบบบัญชีฟาร์มบันทึกรายรับรายจ่าย พร้อมทั้งแสดงสถิติของฟาร์ม นอกจากนี้ยังสามารถช่วยคำนวณประสิทธิภาพของโคนมได้ทั้งรายตัวและรายฝูง ด้วยการดึงข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์ได้ทุกส่วน ช่วยแก้ไขปัญหาข้อมูลฟาร์มไม่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกร สหกรณ์ และสัตวแพทย์ ปัจจุบันมียอดสมัครการใช้งานมากกว่า 9,000 ฟาร์มทั่วประเทศ สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.zyanwoa.com
ส่วนเทคโนโลยีตัวสุดท้ายคือ e–Catt แพลตฟอร์มซื้อ–ขายโคเนื้อไทยออนไลน์ ยกระดับเกษตรไทยยุคดิจิทัล โดยบริษัท บีเวอร์เทค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สร้าง “e–Catt: แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับ ซื้อขาย และแปลงโคเนื้อเป็นทุนแบบครบวงจร” ถูกออกแบบและพัฒนาให้มีระบบการเลี้ยงโคที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อยกระดับการเลี้ยงโคที่ดี ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพันธุ์วัว จำนวนของวัวในแต่ละพื้นที่ ราคา รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์
...
นอกจากนั้น ยังช่วยทำให้ธนาคาร บริษัทประกันภัย ตลอดจนผู้ซื้อโคเนื้อ สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงโคของเกษตรกรรายย่อยได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง สามารถประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโคเนื้อแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ ทำให้โคเนื้อกลายเป็นสินทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ นับเป็นการเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการข้อมูลประกันภัยของเกษตรกรกับบริษัทประกันภัย และเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตปศุสัตว์ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส.ได้ง่ายขึ้น สามารถซื้อขายและสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์ม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาชีพ เลี้ยงปศุสัตว์ให้ยั่งยืนต่อไป.
...
กรวัฒน์ วีนิล