และแล้วสิ่งที่ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เคยเตือนไว้เริ่มให้เป็นจริง

ที่ได้เตือนไว้ใน 2 เรื่อง...อย่าหลงเพลินดีใจกับการที่อินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม เพราะยังไงห้ามส่งออกได้ไม่เกิน 1 เดือน อินโดฯ ต้องกลับมาส่งออกอีกและเมื่อนั้นจะสร้างผลกระทบต่อราคาผลปาล์มของไทย

กับให้จับตาการแต่งตั้ง อนุกรรมการปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม ที่ท่านรัฐมนตรีภูมิใจนักหนาถึงกับขนานนามให้ว่า อนุฯวิน–วิน ที่ตั้งใจจะสื่อความหมายให้ได้ใจความว่า อนุฯชุดนี้จะเข้ามาจัดการปัญหาให้ทั้งพ่อค้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายจริงแท้แค่ไหน

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล
ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล

...

วันนี้ผลเริ่มปรากฏชัด... หลังจากมีการลงนามคำสั่งแต่งตั้ง อนุฯวิน-วิน ไปเมื่อ 7 มิ.ย.65 วันรุ่งขึ้นมาการเรียกประชุมนัดแรก หลังจากนั้นราคาผลปาล์มเริ่มปักหัวลง แล้วดิ่งเหวตามที่คาดไว้ เป็นการร่วงตามตลาดโลกแบบกู่ไม่กลับ

แม้ อนุฯวิน-วิน จะมีการเรียกประชุมเกือบทุกสัปดาห์ แต่กลับไม่เห็นมาตรการแก้ไขใดๆ ราคาผลปาล์มร่วงจาก กก.ละ 11.10 บาท ณ วันที่ 10 มิ.ย.65 ลงมาเหลือต่ำสุด 6.50 บาท เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา...

ราคาร่วงลงไปมากกว่า 40% ในเวลาเพียง 1 เดือน...แต่ราคาน้ำมันขวดยังคงเป็นราคาเดิมขวดละ 68–70 บาท เสมอต้นเสมอปลาย

“แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นต้นทุนจากสต๊อกเก่าที่ซื้อไว้ตอนปาล์มราคาแพง แต่ที่จริงๆแล้วสามารถนำต้นทุนใหม่ที่ซื้อผลปาล์มถูกลงมากมาถัวเฉลี่ยทางบัญชีกับต้นทุนเดิมก็ได้ เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบลดลงมากถึง 40% ที่จริงแล้วแค่ลดราคาน้ำมันขวดแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนลงมา 10% มากพอจะซื้อใจพี่น้องประชาชนได้แล้วและถ้าเราหันไปมองดูตลาดโลก อินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออก เมื่อ 22 เม.ย.65 และประกาศยกเลิกการห้ามส่งออก 23 พ.ค.65 แต่ตอนนั้นราคาน้ำมันปาล์มยังไม่ร่วงลงทันที เพราะอินโดฯเล่นเกมให้ราคาไต่ขึ้น รอจังหวะปล่อยสต๊อกที่เก็บไว้ ทำกำไรในช่วงขาลง โดยใช้เทคนิคอนุญาตให้ส่งออกมาเพียง 300,000 ตันในลอตแรก ทั้งที่มีสต๊อกเพื่อส่งออกอยู่มากถึงเดือนละ 2.5 ล้านต้น

อินโดฯส่งออกลอตแรกแค่เป็นน้ำจิ้ม แต่พอพ้นสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน เริ่มส่งออกจริงจังตามที่คิดไว้ ผลคือทำให้ราคา CPO ในตลาดโลกร่วงรูดสัปดาห์เดียวลงมา 15% และอีกสัปดาห์รูดลงมาอีกเกือบ 20% รวม 2 สัปดาห์ ราคา CPO ในตลาดมาเลย์ร่วงลงมาประมาณ 30% และหากนับจากจุดที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบเคยขึ้นไปสูงสุดที่ตันละ 7,104 ริงกิต เมื่อ 29 เม.ย.65 มาวันนี้ลดลงเหลือตันละ 3,568 ริงกิต ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งของจุดสูงสุดนั่นเองและประธานาธิบดีอินโดฯรีบใช้กลไกสต๊อกและราคาที่ร่วงลงมานี้ ลดราคาน้ำมันปาล์มขวดหาเสียงเอาใจประชาชน 270 ล้านคนที่กำลังประสบชะตากรรมข้าวยากหมากแพง ด้วยวิธีทำบัญชีแบบเฉลี่ยต้นทุนนั่นเอง”

ดร.บุรินทร์ ให้ข้อมูลเปรียบ เทียบวิธีการบริหารจัดการปัญหาน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียกับไทย...อินโดฯลงมือทำทันที แต่อนุฯวิน-วิน ของไทยกลับนิ่ง ไม่สมกับอำนาจการ บริหารจัดการที่ไปขอดึงมาจากทีมงานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ไม่ได้เตรียมการแก้ไข ราคาผลปาล์มไหลลงตามกลไกน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก และไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคน้ำมันปาล์ม วิน-วิน ได้ใช้น้ำมันขวดในราคาถูกตามตลาดโลกด้วย

...

และเมื่อหันไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล (บี 100) เหมือนผลิตน้ำมันปาล์มขวด

จากเดิมตอนปาล์มน้ำมันมีราคาแพง ไบโอดีเซล บี 100 ราคา ณ จุดสูงสุดอยู่ที่ลิตรละ 62.74 บาท ตอนนี้ลดลงเหลือ 44.66 บาท...กระทรวงพลังงานสามารถทำให้โรงงานผลิตไบโอดีเซลลดราคามาได้ถึงลดลงเกือบ 30%

แต่ทำไมคณะอนุฯวิน-วิน ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ถึงทำไม่ได้เหมือนอย่างกระทรวงพลังงาน ทั้งที่มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ตอนนี้ที่คุยว่า ได้ลดราคาน้ำมันปาล์มลงมาแล้ว ขวดละ 3 บาทนั่นนะ

...

คิดแล้วลดลงมาแค่ 5% เท่านั้นเอง ไม่สมดุลกับตัวเลขน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลงมา 30% เอาซะเลย

และที่จับตาสำหรับเกษตรกร เป้าหมายของอนุฯวิน-วัน สิ้นปีจะให้สต๊อกน้ำมันมีไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน มีผู้รู้ทำนายเตือนให้รู้ไว้ อนาคตอันใกล้ ผลปาล์มมีแนวโน้มต่ำกว่า กก.ละ 6 บาท

ที่สำคัญต้นปีหน้า เตรียมรับของขวัญจากรัฐบาล เพราะพี่น้องชาวสวนปาล์มจะมีโอกาสได้ใช้บริการโครงการประกันรายได้ซะที...ผลปาล์มราคาต่ำกว่า กก.ละ 4 บาท รัฐจะจ่ายชดเชยให้ทุกคน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์