นายกฯการันตีพร้อมรับมือหากโควิด-19 กลับมาระบาดหนักหลังช่วงวันหยุดยาว ลั่นหากเตียงผู้ป่วยไม่พอ ตั้ง รพ.สนามได้ ขณะที่โควิด-19 ยังลามสภา ล่าสุด “ชวน หลีกภัย” ติดเชื้อ แต่อาการไม่รุนแรง หลังกลับจาก จ.ตรัง หมอ รพ.รามาฯให้นอนดูอาการ 3 วัน ขณะที่กรมการแพทย์ปรับใหม่ 4 แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษา-จ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 คนติดเชื้อไม่มีอาการเลยให้แยกกักตัวที่บ้าน อาจให้ฟ้าทะลายโจรแล้วแต่ดุลพินิจของหมอ ส่วนมีอาการแต่ไม่รุนแรง ปอดไม่อักเสบ อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่สำคัญควรได้รับยาเร็วใน 5 วันแรกที่มีอาการป่วย แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรงเริ่มที่ยาโมลนูพิราเวียร์

เข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลทางศาสนา ที่หลายฝ่ายเริ่มห่วงว่าอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) เป็นวงกว้าง เนื่องจากมีการเดินทางข้ามจังหวัดไปในที่ต่างๆมากขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานประชุม ครม. ถึงวันหยุดยาวอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ค.นี้ว่าขอให้กำลังใจเจ้าหน้า ที่ที่ต้องทำงานหนัก รวมถึงกำลังพลที่อยู่ตามชายแดนพื้นที่ทุรกันดารด้วย ขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนที่มีแผนจะท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนา ใช้รถใช้ถนนโดยไม่ประมาท เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ รักษาสุขภาพตนเอง ป้องกันโควิด-19 ด้วย ตลอดจนทุกคน ในครอบครัวขอให้ทุกคนมีความสุขในวันหยุดยาวด้วยความปลอดภัย

...

ส่วนการรับมือโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้คุยกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โรคนี้ถึงแม้ติดง่ายขึ้น แพร่ ได้รวดเร็ว แต่อันตรายไม่มากนัก โดยเฉพาะถ้าฉีดวัคซีนครบถ้วน ความเสี่ยงก็ลดลงมาก สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน ตนฉีดมา 5 เข็มแล้ว ยังไม่เป็นไร แต่ต้องระวังเต็มที่ในการใช้หน้ากากอนามัยท่ามกลางคนเยอะๆ และยืนยันเตรียมการไว้พร้อมเรื่องเตียงผู้ป่วย ถ้าไม่พอก็ตั้งโรงพยาบาลสนามได้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดมากขึ้นว่า ขอให้ประชาชนทุกคนเร่งมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเสริมภูมิคุ้มกัน คนได้รับเข็ม 2 ให้รีบมาฉีดเข็ม 3 อย่างรวดเร็ว รับเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือนมารับเข็ม 4 หรือหากรับเข็ม 4 แล้ว รู้สึกว่ายังมีความเสี่ยง ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องทำงานในสถานบันเทิง พบคนหมู่มาก ทำงานในห้าง งานบริการสาธารณะ ขอให้มารับเข็ม 5 วัคซีนเป็นการเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นการลดความเสี่ยงรับเชื้อ แต่สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือ รับวัคซีนครบถ้วน เสริมภูมิคุ้มกัน คนรับเชื้อจะไม่มีอาการหนัก ไม่มีเสียชีวิต สธ.ยืนยันว่าถ้ารับ 4 เข็มขึ้นไป ยังไม่มีป่วยหนักและเสียชีวิต ยกเว้นเป็นโรคอื่นๆส่วนเรื่องแพทย์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค หรือวัคซีน ยืนยันว่า สธ.เตรียมการอย่างดีและเตรียมความพร้อม คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน รับวัคซีนกันครบถ้วนแล้วจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ส่วนที่บอกเตียงเต็มอาจเป็นเพราะ รพ.หลายแห่งลดจำนวนเตียงรักษาโควิด นำไปรักษาโรคอื่น แต่หากจำเป็นก็ขยายได้ และยังมีระบบ CI และ รพ.สนาม ถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราพร้อมที่จะเร่งให้ขึ้นมาเพียงพอในการดูแลประชาชนได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.รายงานไทยพบผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 1,679 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,115 คน อยู่ระหว่างรักษา 23,617 คน อาการหนัก 788 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 342 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 23 คน ขณะที่ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,548,533 คน หายป่วยสะสม 4,494,034 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 30,882 คน ขณะที่กรมควบคุมโรคเผยแพร่ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) ระหว่างวันที่ 3-9 ก.ค.2565 มีจำนวน 149,537 คน รวมสะสม 6,320,100 คน ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ฉีดได้เพิ่ม 25,737 โดส แยกเป็นเข็ม 1 รายใหม่ 2,037 คน เข็มสอง 3,162 คน และเข็มสามขึ้นไป 20,538 คน

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังมีอาการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยนายชวนกล่าวว่า ติดเชื้อโควิดและเข้ารักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี แต่อาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. รู้สึกอ่อนเพลีย หลังจากเดินทางไปเยี่ยมนายเทพไท เสนพงษ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายมาโนช เสนพงษ์ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ที่เรือนจำนครศรีธรรมราช เมื่อมาถึงสภาให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิ ตอนนั้นยังปกติ แต่เมื่อเช้าวันที่ 12 ก.ค. ตื่นขึ้นมา ยังมีอาการอ่อนเพลีย แตกต่างจากครั้งที่แล้วที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหนาวสั่นจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นำเอทีเคมาตรวจด้วยตัวเอง ปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด ตรวจซ้ำอีกครั้งก็ยังขึ้น 2 ขีด มั่นใจว่าน่าจะติดเชื้อโควิด-19 ไปพบแพทย์ที่ รพ.รามาธิบดี แพทย์ขอให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นจะกลับไปรักษาตัวที่บ้านพัก เชื่อว่าทันอภิปรายไม่ไว้วางใจ

...

นอกจากนี้ จากที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้ยารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรมการแพทย์ ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค.2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ โดยการรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้ 4 กรณี ดังนี้ 1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดีให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ จึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ มีลำดับการให้ยา คือโมลนูพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไปให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์

...

ทั้งนี้ การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา ข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

และ 4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้ยาเรมเดซิเวียร์โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนสามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ แต่การสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ ส่วนวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในกลุ่มผู้มีอายุ 6 เดือน-5 ปี ตอนนี้มี 2 บริษัท คือไฟเซอร์ และโมเดอร์นา อย.ได้ส่งหนังสือไปเชิญให้นำมาขึ้นทะเบียนในไทย ขณะนี้รอให้เอาเอกสารมายื่น ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้ในเด็กจะเป็นยาตัวเดิม แต่ทำให้เจือจางลง แต่ไม่สามารถใช้วัคซีนที่มีในมือได้ ต้องเป็นของใหม่ที่มีการผสมน้ำเกลือใหม่ เบื้องต้นไฟเซอร์ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี จะเป็นฝาสีชมพูแดง ใช้ขนาด 1 ใน 10 ของผู้ใหญ่ โดยเด็กเล็กจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มในเวลาที่ห่างกัน ส่วนโมเดอร์นาจะเป็น 6 เดือนถึง 5 ปี ใช้ขนาด 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ ฉีด 2 เข็ม ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้เปลี่ยนสัญญากับไฟเซอร์ในการจัดซื้อวัคซีนเด็กแล้วเป็นเด็กกลุ่มนี้ 3 ล้านโดส ตอนนี้เหลือแค่เขามาขึ้นทะเบียน หากเอกสารที่นำมายื่นกับ อย.เป็นโรงงานผลิตเดิม ยาตัวเดิมก็ใช้เวลาพิจารณาไม่นานจะทราบผล อย่างตอนที่มายื่นขยายอายุในเด็กโตใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์

...

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อวันที่ 12 ก.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ารัฐบาลจีนสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นในแต่ละมณฑลยกเลิกมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย แต่ยังคงตรวจหาเชื้อสินค้าแช่เย็นหรือแช่แข็งต่อไป กระนั้นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนมิได้ระบุว่า สำนักงานศุลกากรจะยังคงตรวจหาเชื้อบนสินค้านำเข้าต่อไปหรือไม่

ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลกรายงานยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกใกล้แตะหมื่นคนหลังยอดติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่วันละกว่า 300 คน และส่งผลให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 9,424 คน ขณะที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวเตือนผ่านหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ว่าไวรัสฝีดาษลิงอาจระบาดอย่างถาวรในสหรัฐฯ หากรัฐบาลยังไม่กระตือรือร้นรับมือพร้อมระบุว่า ทุกวันนี้กระบวนการตรวจหาเชื้อยังไม่ครอบคลุม อุปกรณ์ขาดแคลน และต้องใช้หลายขั้นตอนในการขออนุญาตตรวจหาเชื้อ ทั้งที่ขณะนี้ในสหรัฐฯ พบการระบาดของฝีดาษลิงอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ที่คุณสมบัติไม่เหมือนกัน ยอดผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 864 คน