เมื่อวานนี้ผมมีความประสงค์จะให้ท่านผู้อ่านที่เกิดไม่ทันหรือเกิดแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรู้รับทราบถึงเหตุการณ์วันถือกำเนิดเพลงพระราชนิพนธ์ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า เพลง “ยูงทอง” เมื่อ 59 ปีก่อน ว่าประทับใจชาวธรรมศาสตร์ยุคนั้นอย่างไรบ้าง
เนื่องจากใน พ.ศ.นั้นยังไม่สามารถที่จะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆออกมาเป็นคลิปวิดีโอได้อย่างสมัยนี้ อย่างเก่งก็คงมีการถ่ายภาพยนตร์ของสำนักพระราชวัง หรือของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ช่อง 5 อยู่บ้าง แต่จะมีการเก็บรวบรวมไว้หรือเปล่าไม่ทราบได้
จึงต้องอาศัย “ข่าว” จากการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆที่ หอสมุดแห่งชาติเก็บไว้ รวมทั้ง สารเสรี ที่ผมอ้างถึง
ผมเป็น 1 ในนักศึกษากว่า 5,000 คน (บางฉบับว่า “นับหมื่น”) ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าในห้วงเวลากว่า 3 ชั่วโมง ของวันแห่งความปีติของชาวธรรมศาสตร์ และยังจดจำได้ดีเสมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวันวานด้วยซํ้าไป
จำบรรยากาศ จำพระพักตร์ พระสุรเสียง และพระอารมณ์ขันที่ทรงหยอกล้อกับผู้หลักผู้ใหญ่ของธรรมศาสตร์ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้อย่างติดหูติดตา
จากนั้นอีกไม่กี่เดือนผมก็เรียนจบ และออกไปทำงานแรกในชีวิตในฐานะนักสถิติตรีของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จังหวัดอุดรธานี และไปทราบที่โน่นว่า เพลงพระราชนิพนธ์ของมหาวิทยาลัยเรามี “เนื้อร้อง” แล้ว ประพันธ์โดย นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์)
แต่ก็อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า ผมเป็นนักศึกษาอยู่ในยุคที่เราถือว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัยของเราคือเพลงที่แต่งโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และใช้ทำนองเพลงไทยเดิม “มอญดูดาว” จนพวกเรายุคนั้นเรียกกันว่า “เพลงมอญดูดาว” จนติดปาก
...
ผมประทับใจมากกับเพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่สอนให้นักศึกษาธรรมศาสตร์รักประเทศชาติ รักความเป็นธรรม พร้อมกับตีความสีเหลืองกับสีแดงของพวกเราว่า หมายถึงสีแห่งความเป็นธรรมและสีแห่งโลหิต ที่พร้อมจะอุทิศให้แก่ความเป็นธรรมในทุกๆเรื่อง
นอกจากนั้นยังซาบซึ้งกับเพลง “โดมในดวงใจ” “อาลัยโดม” หรือแม้แต่เพลง “เดิน” หรือเพลงมาร์ชของธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “มาร์ช มธก.” ที่พวกเรามักซ้อมร้องในช่วงการแข่งขันฟุตบอลประเพณี
ยังจำได้ว่าในยามเหงาที่จังหวัดอุดรธานี อันเป็นจังหวัดที่ผมไม่คุ้นเคย และห่างไกลจากจังหวัดที่ผมคุ้นเคยมาก คือนครสวรรค์และคุ้นเคยเป็นอันดับ 2 คือกรุงเทพมหานครพอสมควรนั้น...ผมก็จะร้องเพลง ธรรมศาสตร์ เหล่านี้ ปลุกปลอบใจก่อนเข้านอนเสมอๆ
ซึ่งก็แน่ละยังไม่มีเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” รวมอยู่ด้วย เพราะยังไม่มีการประพันธ์เนื้อร้อง เนื่องจากเป็นเพลงใหม่เพิ่งได้รับพระราชทานทำนองก่อนผมเรียนจบเพียงไม่กี่เดือนดังที่เล่าไว้
จนกระทั่งอีก 1 ปี หรือ 2 ปี หลังจากนั้นจึงได้มีการประพันธ์เนื้อร้องขึ้น และผมก็มีโอกาสได้ฟังอย่างเต็มเพลงในฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ปีแรกที่ผมย้ายกลับสู่ กทม.นั่นเอง
เมื่อได้ฟังเนื้อร้องครั้งแรก ผมก็รู้สึกชื่นชม เพราะบรรยายถึง “เอกลักษณ์” และจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ไว้อย่างครบถ้วน
ทำให้ผมยอมรับเพลงนี้เป็นเพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ นาทีนั้น และปวารณาตัวว่าจะร้องเพลงนี้เป็นเพลงแรกทุกครั้งที่ผมนึกถึงธรรมศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แต่ผมก็ยังให้เกียรติและรำลึกถึงเพลงธรรมศาสตร์อื่นๆซึ่งควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเพลง “มอญดูดาว” ที่ผมเคยประทับใจมาก่อนนั้น ผมยังคงตั้งใจที่จะร้องเป็นเพลงที่ 2 ตลอดไป
ผมจึงเห็นด้วยกับ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นสมาคมของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ทุกคนที่ได้แถลงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะใช้เพลง “พระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (ยูงทอง) เป็นเพลงหลักในการจัดกิจกรรมของสมาคมฯโดยไม่มีวันเปลี่ยน
ขณะเดียวกันก็ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ อมธ. ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะมีการสำรวจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่? แต่มาสรุปว่าควรใช้เพลง “มอญดูดาว” เป็นเพลงหลักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หากมีการสำรวจครั้งหน้า อย่าลืมผนวกความเห็นและจุดยืนของผมไว้ด้วยนะครับ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปจากนี้แน่นอน.
“ซูม”