สาระความรู้ที่จะนำประเทศไปสู่การแข่งขัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล มาใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องและเหมาะสมอย่างไร มากกว่าที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่แท้จริง

ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 หรือพัฒนาเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีในระดับไหนก็ตาม แต่พื้นฐานของประเทศก็คือประเทศ เกษตรกรรม ประชาชนมีสัมมาอาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ จะไปสู่ประเทศที่พัฒนาเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบคงยาก

มีคำถามว่า คนไทยเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิต ทำไมถึงยังยากจนตลอดปีตลอดชาติ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ในที่สุดสู้กับความจนไม่ไหวขายไร่ขายนามาทำงานโรงงานเป็นกรรมการก่อสร้าง หาความยั่งยืนในการดำรงชีวิตไม่ได้อีกต่อไป หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินไปตลอดชีวิต

เพราะ การเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและเทคโนโลยีขาดความต่อเนื่อง และชัดเจนจริงจัง เกษตรกรไทยทำนา ใช้น้ำธรรมชาติจากฟ้า ใช้ปุ๋ยเคมีจากเถ้าแก่ ขายข้าวให้กับโรงสี เป็นวัฏจักรที่ไม่เคยพัฒนาไปมากกว่านี้ที่เรียกว่า วัฏจักรความยากจนของเกษตรกรไทย ก็ว่าได้

วันนี้เราเริ่มจะเห็นภาครัฐบางหน่วยงานที่มาถูกทาง เช่น การผลักดันให้เกิดสมาร์ทฟาร์มสู่ไร่อ้อย ในการที่จะลดต้นทุนการผลิต เหมือนที่ เวียดนาม ทำได้ผลมาแล้ว 1 ไร่ จะต้องได้ผลผลิตเท่าไร่ ต้นทุนเท่าไหร่ ถึงจะคุ้มทุนหรือมีกำไร คำนวณกันไว้ตั้งแต่มีการลงมือปลูก

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลังกับที่นักวิจัยคนไทยในการแก้ปัญหาชาวไร่อ้อย ผ่านแพลตฟอร์มบริการ FPS ในการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อยและอุตสาหกรรมไร่อ้อย แก้ปัญหาด้านคุณภาพที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีความหวานไม่คงที่ ทำให้ผลผลิตมีต้นทุนสูงต่อตันน้ำตาลเป็นการลดต้นทุนได้มากขึ้น และนำระบบพลังงานชีวมวลมาใช้งานในระบบได้มากกว่าร้อยละ 20 รวมแล้วมีมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

...

นโยบายที่ได้รับมอบหมายมาจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จะนำไปสู่โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนำนโยบาย DIPROM CARE มาประยุกต์ใช้ผ่านการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เพิ่มผลผลิตลดต้นทุน บูรณาการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้อย่างครบวงจร โดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รอง ผอ.ด้านบริหารงานวิจัยหน่วยบริหารและจัดการทุนดำเนินการเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพช.) ยืนยันผลสำเร็จจากความร่วมมือของภาครัฐประชาชนและภาคเอกชนที่ชัดเจน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th