เมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่ง “ผู้ผลิตและส่งอาหารสัตว์รายใหญ่” ที่เติบโตขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว “ปลาป่นหรือปลาเป็ดปลาไก่ โปรตีนชั้นสูงคุณภาพดี” กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญถูกป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตมหาศาลทุกปี

ปัจจัยนี้ทำให้ “อุตสาหกรรมปลาป่น” ถูกกล่าวหามาตลอดว่า “สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลไทย” เพราะด้วยปลาป่นเป็นคำเรียกรวมมาจาก “สัตว์น้ำทะเลขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน” ที่พลัดเข้าสู่วงจรนี้ที่เกิดจาก “เรือประมงบางประเภท” ใช้อุปกรณ์ทำประมงไม่เหมาะสมเกินขนาดถึงขั้นทำลายล้าง

ไม่ว่าจะเป็นอวนลาก อวนรุน และเครื่องประมงผิดกฎหมายอื่นอันเป็น “ภัยคุกคาม” ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนไม่มีโอกาสเติบโตขยายพันธุ์สามารถเพิ่มมูลค่าต่อไปได้นี้ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำทะเลได้มากกว่าปีละ 2 ล้านตัน

...

กระทั่งในปี 2558 ถูกกำหนดห้ามจับเกิน 1.5 ล้านตัน แต่ปรากฏว่าผลผลิตสัตว์น้ำลดฮวบฮาบลงเหลือ 1.4 ล้านตัน/ปี ในปีถัดมาเหลือ 1.3 ล้านตันต่อปี ล่าสุดปี 2564 เหลือ 1.2 ล้านตัน พอตรวจสอบสาเหตุพบว่าสัตว์น้ำวัยอ่อนหายไป เพราะถูกจับซ้อนในรูปแบบปลาเป็ดทำเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ไม่มีโอกาสโตเต็มวัยเข้าสู่ตลาดบริโภคได้

แล้วสัดส่วนผลผลิตสัตว์น้ำที่ถูกป้อนเข้าโรงงานปลาป่นกลับยังมีน้ำหนักเท่าเดิมอย่างเช่นในปี 2563 เรือประมงขนาดใหญ่สามารถจับปลาป่นได้ 4 แสนตัน ในจำนวนนี้ปรากฏพบเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่น้อยกว่า 68 ชนิดไม่ว่าจะเป็นลูกปลาทู กุ้ง หอย ปู หมึก และปลาชนิดอื่น ล้วนเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ถูกจับปะปนรวมกันอยู่ตรงนี้

กลายเป็นว่า “คนไทย” ต้องซื้ออาหารทะเลบริโภคราคาแพงเข้าถึงยากกันทุกวันนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “ทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาเป็นเวลานาน” ด้วยความโดดเด่น “ตั้งอยู่ในเขตแนวใกล้เส้นศูนย์สูตร” ทำให้มีสภาพอากาศร้อนชื้นที่เป็นข้อได้เปรียบโซนยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา

ในเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสัตว์น้ำอันมีความอุดมสมบูรณ์จนถูกเรียกว่า “มัลติสปีชีส์” แล้วแทนที่คนไทยจะเตรียมไว้ “เป็นแหล่งอาหารรองรับวิกฤติอนาคต” กลับมีบางคนทำลายหม้อข้าวหม้อแกงตัวเอง

สาเหตุ “สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับได้มหาศาล” มาจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายในการกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำทะเล และสัดส่วนที่ควรทำการประมงได้ชัดเจน “จนเกิดการกอบโกยสัตว์น้ำทะเลในปริมาณน้ำหนักมาก” ทำให้ลูกปลาบางส่วนถูกจับไปเป็นปลาป่นป้อนเข้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

แล้วในแต่ละปี “การผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ 3-4 แสนตัน” แยกเป็นใช้ในประเทศราว 2 แสนตัน/ปี และส่งออกนอกประเทศ 2 แสนตัน/ปี ในเรื่องนี้ปี 2561-2562 “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อ “รัฐบาลให้ยกเลิกการส่งออกปลาป่น” เพื่อหวังลดการผลิตที่จะนำไปสู่โอกาสของสัตว์น้ำทะเลถูกจับน้อยลง

ปรากฏว่า “รัฐบาลไม่ยอมอ้างการค้าเสรี” คราวนั้นเครือข่ายฯก็ยอมรับแต่มีเงื่อนไขให้ควบคุมการผลิตลดลง สุดท้ายก็ไม่อาจทำตามนั้นได้จนทุกวันนี้ ทำให้สัตว์น้ำถูกตัดวงจรชีวิตจนทำลายระบบนิเวศทางทะเล ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว “ไม่คุ้มค่า” เพราะเร่งจับสัตว์น้ำตัวเล็กไม่มีน้ำหนัก แทนที่จะดูแลรักษาให้โตเต็มวัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น

...

จริงๆแล้วก่อนหน้า “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน” เคยทำงานร่วมกับภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ อนุกรรมการ แล้วมีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้มาตลอด แต่ภาครัฐกลับไม่จริงใจต่อ “การแก้ปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย” กลายเป็นลักษณะการเตะถ่วงซื้อเวลากันไปในแต่ละวัน

โดยเฉพาะ “การกำหนดชนิดพันธุ์ขนาดสัตว์น้ำที่ควรจับทำประมงได้” ตาม ม. 57 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ห้ามจับสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง ลักษณะเปิดช่องให้รัฐมนตรีกำหนดข้อห้ามจับลูกปลา แต่ผ่านมาเกือบ 8 ปีกฎหมายมาตรานี้ไม่เคยถูกกำหนดบังคับใช้ด้วยซ้ำ

ทำให้ที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมประมงบางราย” ฉวยโอกาสกอบโกยฝูงสัตว์วัยอ่อนป้อนขายโรงงานปลาป่นทำอาหารสัตว์ “อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทะเลถูกทำลาย” ดังนั้น สมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ล่องเรือจากทะเลอันดามันภาคใต้

...

มุ่งหน้าเข้าสู่ “ทะเลอ่าวไทยภาคตะวันออก” อันมีจุดเป้าหมายยังแม่น้ำเจ้าพระยา และเข้าเทียบท่ารัฐสภาฯ เรียกร้องรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างเป็นรูปธรรม

หากย้อนดูสาเหตุ...“การบังคับใช้กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” คงคาราคาซังมายาวขนาดนี้เพราะกลุ่มได้ผลประโยชน์คัดค้านต่อต้านไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะประมงขนาดใหญ่ที่ยังใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมในการทำประมง เช่น อวนลาก อวนรุน ที่สามารถนำพาสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยจับไปได้น้ำหนักมากที่สุด

ทั้งที่จริงแล้วในปี 2523 “รัฐบาล” เคยมีการควบคุมให้อวนลากและอวนรุนทยอยยกเลิกใช้ให้หมด สุดท้ายอวนรุนถูกยกเลิกหมดแล้วคงเหลืออวนลากที่ไม่ยอมอยู่นี้ เพราะผู้ประกอบการทำประมงอ้างเหตุผลข้อต่อสู้ว่า “มิได้จับปลาวัยอ่อนในอัตราสูงจนทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ” ทำให้ภาครัฐยอมอนุญาตผ่อนผันมาจนถึงวันนี้

ปัจจุบันเหลืออวนลาก 3 พันกว่าลำ หรือคิดเป็น 30% ของเรือประมงพาณิชย์ 11,000 ลำ แล้วต่อมาก็เรียกร้องขอขยายใช้ตาก้นถุงอวน 4 ซม. เรื่องนี้ในทางปฏิบัติ “ตาอวน 4 ซม.” ในเวลาลากอวนจะถี่ลงจากแรงดึงทำให้ตาอวนลีบจาก 4 ซม.ก็เหลือ 2-3 มิลลิเมตร ทำให้ลูกปลาตัวเล็กตัวน้อยต้องถูกลากจับไปด้วยได้

...

สิ่งสำคัญอวนลากเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน เพื่อนำไปทำเป็นปลาเป็ด 82% และอีก 18% ปล่อยออกมาสู่ตลาดให้ผู้คนได้บริโภคกัน

ปัญหานี้แก้ได้โดยง่ายด้วย “นายกรัฐมนตรี” ตามตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ แต่มอบอำนาจให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ” เป็นประธานฯ ควบคุมทุกอย่างในแง่เชิงนโยบายสามารถสั่งการออกข้อกำหนดชนิดขนาดสัตว์น้ำควรจับตาม ม.57 พ.ร.ก.การประมงฯ ที่ให้ไว้โดยตรงก็ได้

ด้วยที่ผ่านมามีการประชุมหารือกันทุกฝ่ายหลายครั้ง แล้วยังมีผลการศึกษาข้อดีข้อเสียเยอะแยะมากมายจนแทบครบทุกแง่มุมด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยคืบหน้าแถมยืนย่ำอยู่กับที่มาเกือบ 8 ปี เพราะด้วยกลุ่มผู้จะเสียผลประโยชน์ไม่เห็นด้วยกับการประกาศบังคับใช้ ม.57 พ.ร.ก.การประมงฯนี้

ฉะนั้น เชื่อสุดใจว่า “ถ้ามีการบังคับใช้ ม.57 สถานการณ์จับสัตว์น้ำวัยอ่อนจะลดลงแน่นอน” โดยเฉพาะอวนลากคู่จะไม่สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้อีกต่อไป “อย่าลืมอวนลากจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ 82%” แล้วเป็นเครื่องที่คงมีใช้อยู่ประเทศเดียวของโลก ในการจับสัตว์น้ำมุ่งป้อนเข้าโรงงานปลาป่นขายราคา 5 บาท/กก.

อันมีความต่างจากสมัยก่อน “กรณีการนำสัตว์น้ำเข้าโรงงานปลาป่นนั้น” มักต้องมีลักษณะเป็น “สัตว์น้ำค่อยจับ” กล่าวคือเน้นจับปลาบริโภคเป็นหลัก ถ้ามีปลาเป็ดติด 5% หรือ 10% ก็ค่อยนำเข้าโรงงานปลาป่นทำเป็นอาหารสัตว์ แต่ปัจจุบันไม่สนใจ “สัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อย” มุ่งทำประมงส่งโรงงานอย่างเดียว

ถ้ามองในมุมบวกหากว่า “รอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัยเป็นปลาบริโภค” จะสามารถเพิ่มมูลค่าอย่างน้อยเริ่มต้น 40 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับชนิดของปลานั้น ฉะนั้น ถ้ากำหนดขนาดห้ามจับสัตว์น้ำได้จะช่วยให้ลูกปลามีโอกาสเติบโตเต็มวัยเพิ่มน้ำหนักใน 6 เดือน แล้วถึงเวลานั้นก็ยังสามารถป้อนส่งให้โรงงานปลาป่นก็ได้เช่นเดิม

แต่เพราะ “บางคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” ไม่ยอมทำตามกติกาจนตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำทำลายระบบนิเวศทะเลไทยมากมาย แล้วหลังจากวันที่ 8 ก.ค.นี้ถ้าไม่มีความคืบหน้าเราจะเข้าไปทวงถาม หากไม่มีการตอบก็จำเป็นต้องพึ่งอำนาจศาลอาญา หรือศาลปกครองช่วยออกคำสั่งบังคับ “รัฐบาล” กำหนดขนาดการจับสัตว์น้ำต่อไป

นี่คือความพยายามของภาคประชาชน “ทวงคืนสัตว์น้ำวัยอ่อน” มิให้ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยต้องถูกทำลายมากกว่านี้หลังจากนี้คงต้องรอดูท่าที “ภาครัฐจะรับไม้ต่อกำหนดบังคับใช้ ม.57 ตาม พ.ร.ก.การประมงฯ” ที่จะเป็นกลไกควบคุมการจับลูกปลาตัวเล็กตัวน้อยในอนาคต...