สสว.-DGA ผนึกกำลังเดินหน้าโครงการ “SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” เข้าถึงบริการภาครัฐทุกหน่วยงาน ลดการกรอกข้อมูล-จัดเตรียมเอกสาร ล่าสุด 4 หน่วยงานรัฐ ขานรับเชื่อมโยงฐานข้อมูลแล้ว ลุยจัดแคมเปญเด็ด ดึงผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนยืนยันตัวตน ตั้งเป้าปีนี้ 1 ล้านราย รับสิทธิประโยชน์เพียบจาก 16 หน่วยงานใหญ่ภาครัฐ-เอกชน เผยแห่ร่วมโครงการล่าสุดแล้วกว่า 2 พันราย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) เน้นการให้ช่วยเหลือสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ ซึ่งเป็นที่มาของประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบ 12 งานบริการ เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินการโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification : SME One ID)” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย โดยโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย

ผอ.สสว. เผยอีกว่า ขณะนี้ สสว. ได้ลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA แล้ว และได้ดำเนินการโครงการนำร่อง SME One ID และเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อรับการบริการจากภาครัฐปี 2564 (One Identification One SME – Phase I) ทั้งนี้ ได้พัฒนาระบบทะเบียนและการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงได้มีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่มีภารกิจให้บริการแก่ผู้ประกอบการ MSME ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบฐานข้อมูล SME One ID ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการกับหน่วยงานรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ และที่สำคัญสะดวก รวดเร็วเข้าถึงบริการและโครงการที่ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนได้รวดเร็วไม่ต้องรอการยืนยันเอกสารในรูปแบบเดิม โดยในปีงบประมาณ 2564 สสว. ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 8 หน่วยงาน เพื่อให้การสนับสนุนแก่ MSME ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และขอรับบริการจาก สสว. ใน 3 ด้านได้แก่ ด้านการเพิ่มผลิตภาพ /ลดต้นทุน ด้านการขยายช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน

โดย 8 หน่วยงานที่ได้ลงนามแล้ว ประกอบด้วย บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.), บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (TESCO) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) Bank of China (Thai) Public Company Limited บริษัท เทลสกอร์ จำกัด TikTok มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2565 ได้มีความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ บมจ.สยามแม็คโคร บมจ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัท เจนโทเซีย จำกัด บริษัท เฟเวอรี่ จำกัด บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท อินโนเทค ลาบอราทอรี่ เซอร์วิส และธนาคารออมสิน

ผอ.สสว. เผยว่า ในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลักคือระบบ Biz Portal บนเว็บไซต์ www.bizportal.go.th ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ

รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ รวมถึงได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว” นายวีระพงษ์ ระบุ และว่า

สสว. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2565

“โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ MSME ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ลดการกรอกข้อมูลหรือการเตรียมเอกสารต่างๆ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ QR Code จากโทรศัพท์หรือบัตรในการเข้ารับบริการ หรือเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนหน่วยงานรัฐจะได้ข้อมูล MSME ที่ถูกต้องและสามารถให้บริการได้รวดเร็วขึ้น ลดกระดาษและสำเนาเอกสาร รวมถึงสามารถส่งต่อการให้บริการระหว่างหน่วยงานได้ ขณะที่ผู้บริหารประเทศจะได้เห็นฐานข้อมูล Big Data ของ SME ที่ทันสมัยและใช้งานร่วมกันในหน่วยงานรัฐได้” นายวีระพง์ กล่าว

สำหรับความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรข้างต้นแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายผู้ประกอบการจำนวน 1,800 ราย ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน ถึง 15 สิงหาคม 2565 นี้

ด้าน นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กล่าวว่า DGA ได้ร่วมกับ สสว. กำหนดแนวทางการพัฒนางานบริการ “SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” เป้าหมายส่วนหนึ่งในปีนี้เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมถึงการบูรณาการข้อมูลภายใต้ระบบงานบริการ SME One ID จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการส่งเสริม MSME ในภาพรวมทั้งประเทศด้วย

โดย สสว. และ DGA จะร่วมกันวิเคราะห์ระบบบริการผู้ประกอบการ SMEs และระบบฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางและพัฒนางานบริการ “SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ” ที่มีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลผู้ประกอบการ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล และการดูแลสนับสนุน MSME ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป

นางสาวบุษยพรรณ วงษ์พิไลวัฒน์ ผู้แทนผู้ประกอบการ SME ที่ลงทะเบียนใช้งานระบบ SME ONE ID เปิดเผยว่า เดิมตนเป็นแม่ค้าในตลาดนัด แต่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการของภาครัฐและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจ “เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ Veget Crisp” ประสบความสำเร็จจนสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก

โดยนางสาวบุษยพรรณฯ เผยอีกว่า การลงทะเบียน SME ONE ID มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยสามารถลงทะเบียนได้ผ่าน Bizportal.go.th และการลงทะเบียนจะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านระบบขอรับบริการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สการอบรมและพัฒนาสินค้า การเข้าถึงบริการของภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ แหล่งเงินทุนสนับสนุนต่างๆ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับคู่ค้าเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น