สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยเผยผลวิจัยเกี่ยวกับบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ผ่าน แอปพลิเคชัน โดยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีต่อ ประเด็นต่างๆ ทั้งประโยชน์ของบริการ ผลกระทบ ตลอดจนนโยบายของภาครัฐในการกำกับดูแลบริการ ดังกล่าว ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 411 คน รวมถึงการจัดสนทนา กลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) กับกลุ่มผู้ให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ (ป้ายเหลือง) และ บุคคลทั่วไปที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน (ป้ายดำ) พร้อมนำเสนอแนวทางที่ภาครัฐควรนำมาพิจารณา ในการกำกับดูแลบริการดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับทุกภาคส่วน ทั้งคนขับ ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาครัฐ ตลอดจนสังคมโดยรวมควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล โดยผลการสำรวจระบุว่า

60.83% ของกลุ่มตัวอย่าง เคยใช้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ผ่านแอปพลิเคชัน โดยให้เหตุผลว่า บริการดังกล่าวมีประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ
   

   ⦁ 94.4% เห็นว่าบริการดังกล่าวช่วยสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง เพราะสามารถ เรียกจากที่ไหนหรือเวลาไหนก็ได้
   ⦁ 84.8% ระบุว่าแอปเรียกรถมีความโปร่งใสในด้านราคา เพราะทราบค่าบริการล่วงหน้า ก่อนเรียกใช้บริการ
   ⦁ 73.2% บอกว่าบริการนี้สะดวกในแง่ระบบการชำระค่าบริการ เพราะสามารถจ่ายแบบ ออนไลน์ ไม่ต้องใช้เงินสด
   ⦁ 67.6% คิดว่าเป็นบริการที่ปลอดภัย เพราะแอปเรียกมีการคัดกรองที่เข้มงวด มีฐานข้อมูล คนขับ-ทะเบียนรถ สามารถตรวจสอบได้ และมีเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง
   ⦁ 62% เห็นว่าสามารถเดินทางข้ามเขตหรือพื้นที่ได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องจุดรับเหมือนกับวิน ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด
   ⦁ 54.8% มองว่าบริการนี้ช่วยสร้างอาชีพเสริมให้กับบุคคลทั่วไปที่มีรถมอเตอร์ไซค์
   ⦁ 46.4% เห็นว่าบริการนี้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะมีส่วนลดจากโปรโมชัน และรีวอร์ดให้กับผู้ใช้

⦁ ต่อประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐกำลังจะนำระบบวินมอเตอร์ไซค์มาใช้ในการกำกับดูแลบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอป เช่น ให้รับ-ส่งได้เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น คนขับมีใบขับขี่สาธารณะ หรือใช้ป้ายเหลืองเท่านั้น และมีระบบโควตาจำกัดจำนวนผู้ให้บริการ พบว่า 69% ของผู้ที่เคย ใช้บริการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

   ⦁ โดย 75% มองว่า ระบบวินมอเตอร์ไซค์มีข้อจำกัดในการให้บริการ ทั้งในเรื่องจุดรับ-ส่ง การไม่สามารถให้บริการข้ามเขตได้ ซึ่งไม่สะดวกและไม่ตอบโจทย์การเดินทางของ คนกรุงเทพฯ
   ⦁ ขณะที่ 72% ระบุว่าการใช้ระบบโควตาส่งผลให้มีการจำกัดจำนวนคนขับหรือรถ อาจทำให้มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะใน ช่วงเวลาเร่งด่วน
   ⦁ นอกจากนี้ 88% ยังบอกว่าการใช้ระบบโควตาอาจนำพาไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น มาเฟียเสื้อวิน การโก่งราคา หรือการปิดกั้นโอกาสคนขับทั่วไปที่ต้องการจะเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เป็นต้น
   ⦁ ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น โดย 91% ของคนกลุ่มนี้ เชื่อว่าระบบวินมีความปลอดภัยมากกว่าเพราะภาครัฐมีฐานข้อมูลของคนขับทุกคน ขณะที่ 75% คิดว่าระบบวินช่วยสร้างความมั่นใจเพราะเป็นระบบที่ถูกกฎหมาย

⦁ ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีคำสั่งปิดแอปพลิเคชันเรียกรถมอเตอร์ไซค์ รับจ้างที่ให้บริการโดยบุคคลทั่วไปนั้น 94% ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

   ⦁ โดย 90% มองว่าเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้ใช้บริการ ขณะที่ 81% เห็นว่าการดำเนินการเช่นนั้นสะท้อนถึงความล้าหลังของกฎหมายไทยที่ไม่สอดรับกับพฤติกรรมของ ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และ 74% เชื่อว่าเป็นการปิดกั้นโอกาสทำกินและขัดต่อการ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
   ⦁ ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งให้ปิดแอปมีซึ่งมีเพียง 6% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ (73%) มองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง ขณะที่ 60% ไม่ต้องการถูกหักค่าธรรมเนียม การใช้บริการจากแอป และ 47% คิดว่าจะช่วยให้คนขับในระบบวินมีรายได้มากขึ้น

นอกจากประชาชนผู้ใช้บริการแล้ว สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ สำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมกับกลุ่มผู้ให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ (ป้ายเหลือง) และบุคคลทั่วไปที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน (ป้ายดำ) ผ่านการทำสนทนากลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) โดย

   ⦁ กลุ่มผู้ให้บริการวินรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างระบุว่า บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ผ่านแอปได้รับ ความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทำให้เสื้อวินมีราคาถูกลงไปมาก หลายวินเริ่มไม่เก็บค่าธรรมเนียม รายเดือนอีกต่อไป ทั้งนี้ในหลายพื้นที่คนขับวินก็เริ่มปรับตัวเพื่อให้บริการผ่านแอป ไม่ว่าจะเป็น บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร รวมไปถึงบริการจัดส่งอาหารหรือขนส่งสินค้า-พัสดุ โดยตัวแทนคนขับ วินที่เข้าร่วมทำโฟกัสกรุ๊ปมองว่า การมีทั้งระบบวินและระบบเเอปเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตอนนี้คนขับวินในหลายพื้นที่เริ่มยอมรับรถป้ายดำที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารมากขึ้น เพียงแต่ต้อง ไม่มาทับพื้นที่กัน ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT การมีวินประจำก็สะดวกต่อผู้โดยสาร ทำให้สามารถขึ้นวินต่อได้เลย ขณะเดียวกันระบบแอป ก็ช่วยให้ผู้โดยสารที่อยู่ห่างจากวินหรืออยู่ในซอยลึกสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น เพราะมีรถ ไปรับถึงที่ทุกเวลา ดังนั้น ทั้งสองระบบสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะช่วยเติมเต็มจุดแข็งและแก้ปัญหาจุดอ่อนของกันและกันเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการ

   ⦁ ขณะที่กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ให้บริการผ่านแอปให้ความเห็นว่า การมีระบบแอปเรียกมอเตอร์ไซค์ รับจ้างช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว และสร้างความสะดวกอย่างมากให้กับ ผู้โดยสารและตอบโจทย์คนยุคนี้ ทำให้มีจำนวนผู้เรียกใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มี คนขับเข้ามาในระบบเรียกรถผ่านแอปมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มวิน โดยมองไปที่ประโยชน์ในภาพรวม หากจะมีการบังคับใช้ กฎระเบียบใดๆ เพื่อควบคุมบริการ อยากให้คำนึงถึงผลกระทบ และให้มีเวลาได้ปรับตัว เพราะไม่อยากสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่ข้าวยากหมากแพงแบบนี้ หากมีการสั่งปิดแอปอย่างที่มีการรายงาน ข่าวจริง ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความลำบาก ให้กับคนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ยังได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ เรียกรถมอเตอร์ไซค์ผ่านแอปพลิเคชันในประเทศไทย โดยให้ทรรศนะว่า “ในแง่มุมของประโยชน์ทาง เศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัล เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ ในสังคมได้ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจ เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ และสร้าง การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ปัจจุบันกฎหมายหรือข้อบังคับบางอย่างอาจจะไม่รองรับต่อ ความเปลี่ยนเเปลงของโลก แต่สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบเพื่อให้ ทุกภาคส่วนของประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้จากเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้

“ในกรณีของการบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ผ่านแอปพลิเคชันนั้น ส่วนตัวมองว่าภาครัฐไม่ควรที่จะเดินถอยหลังเข้าไปเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีอยู่เเล้ว โดยนำกฎหมายที่ถูกร่างขึ้นในยุคสมัยเดิมบังคับใช้ กับเรื่องในปัจจุบัน โดยไม่ได้พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาครัฐไม่ควรเข้าไปกำหนดหรือบังคับห้ามไม่ให้คนขับป้ายดำต้องหยุดการให้บริการ ในทางกลับกัน ภาครัฐควรที่จะช่วยให้คนขับเหล่านี้สามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีแผนหรือกระบวนการต่างๆ รองรับ ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยทยอยปรับกฎระเบียบให้เป็นที่ยอมรับ ของทุกฝ่าย และอนุโลมให้รถป้ายดำสามารถวิ่งรับ-ส่งในระบบแอปได้ไปก่อนจนกว่าทุกฝ่ายจะตกลง หาทางออกกันได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ก็ควรหาทางส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มคนขับวิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือกลุ่มที่ตามไม่ทันเทคโนโลยี สามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน เหล่านี้ได้ จะได้มีรายได้เสริมและก้าวทันเศรษฐกิจดิจิทัล”