1 ก.ค.2565 วันดีเดย์ สำหรับเป้าหมายที่ประเทศไทยจะนำโรคโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หลังจากที่คนทั้งโลกต้องต่อสู้กับมหันตภัยไวรัสร้ายนี้มานาน 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เชื้อร้ายนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายปี 2562 หรือปี ค.ศ.2019

ยอดผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.2565 มีกว่า 544 ล้านคน และสังเวยชีวิต 6.34 ล้านคน สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ที่พบผู้ป่วย คนแรกจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.2565 มีจำนวน 4,499,044 คน และสูญเสียชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 30,467 คน

การเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 แม้จะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก คนตกงานมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้แวดวงทางการแพทย์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์รวมทั้งการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และยารักษาได้สำเร็จและนำมาใช้อย่างรวดเร็ว เพื่อสกัดไวรัสร้ายนี้อย่างได้ผล ขณะที่ตัวไวรัสเองก็มีการกลายพันธุ์ และลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ จากสายพันธุ์อัลฟา เบตา เดลตา จนมาถึงโอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้แม้จะยังมีการระบาด และมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ยอดผู้เสียชีวิตลดลง ทำให้ทั่วโลกเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

...

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชน สถานประกอบการต่างๆ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด และรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้สถาน การณ์ของประเทศดีขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เตรียมแผนและมาตรการ บริหารจัดการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันควบคุม เพื่อนำโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น หลังจากที่เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่ปี 2564 และเฝ้าติดตามสายพันธุ์โอมิครอน ที่เริ่มระบาดตั้งแต่ต้นปี 2565 และเห็นว่าเชื้อระบาดง่ายขึ้นก็จริง แต่อาการของโรคไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้วางแผนและมาตรการบริหารจัด การสถานการณ์โรคโควิด–19 สู่โรคประ จำถิ่น โดยแบ่งระยะเวลาของสถานการณ์การระบาดเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) วันที่ 12 มี.ค.–ต้น เม.ย., ระยะที่ 2 ระยะโรคทรงตัว (Plateau) ช่วงเดือน เม.ย.–พ.ค., ระยะที่ 3 ระยะโรคลดลง (Declining) ช่วงปลาย พ.ค.–วันที่ 30 มิ.ย., และระยะที่ 4 ระยะหลังการระบาด (Post Pandemic) หรือโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป

โดยแต่ละช่วงเวลาได้มีการจัดแผน วางมาตร การป้องกัน รักษา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ทั้งมีข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติแบบวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา เช่น การเปิดสถานศึกษา การเปิดสถานบันเทิง การลดเงื่อนไขสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นต้น มีการเตรียมระบบบริการสาธารณสุขรองรับ โดยโรงพยาบาลต่างๆเริ่มกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆได้ตามปกติ ส่วนการรักษาโรคโควิด-19 ก็ปรับให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามสิทธิของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันส่วนตัว รวมทั้งการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยลองโควิด ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดต่ออันตรายกรณีโรคโควิด-19

ขณะเดียวกันก็มีการจัดงาน Meet the Press : Move on จากโควิด–19 ใช้ชีวิตแบบมั่นใจ เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันไปยังประชาชนให้เกิดความมั่นใจเตรียมพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งงานนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ส่งสารถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศทุกระดับ เตรียมพร้อมการรักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ วัคซีน ให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม พร้อมกันนั้นก็เชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ ตลอดจนสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยหลังการระบาดของโรคโควิด–19

สำหรับมาตรการเตรียมพร้อม แบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1.ประชาชนต้องยึดมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention หรือการป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล ทั้งสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ และ Universal Vaccination หรือ การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ 2.สถานประกอบการ เช่น โรงเรียน สถานที่ทำงาน สถานบริการต่างๆ ต้องยึดมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง ผู้ให้บริการรับวัคซีนตามเกณฑ์ และมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นระยะๆ 3.กระทรวงสาธารณสุข ยึดหลัก 3 พอ ได้แก่ เตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยโรคทั่วไป ยาและวัคซีนเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ และ 4.โรงพยาบาลปรับหอผู้ป่วยโควิด–19 เป็นหอผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป นอกจากนี้ยังจัดงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” รับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

...

และล่าสุด วันที่ 17 มิ.ย.2565 ซึ่งมีการประชุม ศบค.ใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ผอ.ศบค. เป็นประธานที่ประชุม ก็มีมติปลดล็อกให้คนไทยถอดหน้ากากได้อย่างมีเงื่อนไข โดยยกเว้นกลุ่ม 608 ยกเลิกไทยแลนด์พาส ให้สถานบันเทิงเปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง ตี 2 (มีผลนับตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา) ยกเลิกเครื่องวัดอุณหภูมิในอาคารสถานที่ต่างๆ ยกเว้นสถานที่ที่เสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำจากภาครัฐ เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และเราหวังว่าจากนี้ต่อไปคนไทยจะไม่ประมาท รู้จักการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี เพราะเรามีบทเรียนที่เจ็บปวดจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการสูญเสียชีวิต ตกงาน และเศรษฐกิจย่อยยับมาแล้ว และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อประเทศไทยจะได้เดินหน้าเต็มสูบ กลับมาใช้ชีวิตปกติแบบวิถีใหม่และร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเต็มรูปแบบ เสียที.

ทีมข่าวสาธารณสุข