“ทำไมราคาน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ!” คำถามนี้กำลังดังอยู่ในใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยวรถเข้าไปในปั๊มน้ำมัน แล้วพบว่า ‘ราคาเต็มถัง’ ของเราสูงขึ้นจนน่าตกใจ และที่มากกว่านั้นคือ ราคาน้ำมันสัมพันธ์กับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แล้วทำไมน้ำมันถึงแพงขึ้น ราคาน้ำมันสัมพันธ์อยู่กับ ‘อะไร’ …ชวนไขข้องใจราคาน้ำมันกันแบบจริงจัง

3 กลไกที่มีผลต่อราคาน้ำมัน

ภายใต้ความผันผวนของราคาน้ำมัน มีความจริง 3 ประการที่สัมพันธ์กับราคาน้ำมันโดยตรง นั่นคือ

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน

ราคาน้ำมันจากราคาหน้าโรงกลั่น นับเป็นต้นทุนหลักในส่วนของราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันจะปรับเปลี่ยนไปตามทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ทั้งนี้ความผันผวนก็จะเป็นไปตามความต้องการซื้อขาย (ดีมานด์ - ซัพพลาย)

สำหรับประเทศไทยแล้ว เรายังคงต้องนำเข้านำมันดิบมากลั่นเป็นนำมันสำเร็จรูป จึงต้องอ้างอิงราคาน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการซื้อขายของภูมิภาค และเป็นตลาดน้ำมันที่ใกล้เคียงประเทศไทยที่สุด

2. โครงสร้างภาษีและกองทุน

เรามักตั้งคำถาม และรู้สึกคาใจว่า ทำไมบางประเทศถึงได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกกว่า เหตุผลสำคัญหนึ่งมาจากการจัดเก็บภาษี และกองทุนต่างๆ

สำหรับประเทศไทย มีการจัดเก็บภาษี ได้แก่ สรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับประเทศอื่นๆ ก็มีการเก็บภาษีแตกต่างกันออกไป จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศนั้นๆ ต่างจากประเทศไทยด้วย

บางประเทศไม่ได้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ในขณะที่บางประเทศ เช่น มาเลเซีย หรือบรูไน นอกจากจะไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันแล้ว รัฐยังนำงบประมาณมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ

3. ค่าการตลาด

ค่าการตลาดคืออะไร?

ค่าการตลาดไม่ใช่กำไรสุทธิของบริษัท หรือเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากต้องนำไปหักจากค่าใช้จ่ายการดำเนินการต่างๆ อาทิ ค่าขนส่ง ค่าปฏิบัติการคลัง ค่าที่ดิน ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

ราคาหน้าปั๊มคิดจากอะไร?

ประเด็นนี้น่าสนใจ มี 2 ส่วนสำคัญที่มีผลโดยตรง นั่นคือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ กับ อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นสกุลเงินในการซื้อขายน้ำมัน

การที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสัมพันธ์อยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก และด้วยความที่ไทยอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ หากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาขายหน้าปั๊มก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ส่งผลต่อราคาน้ำมันเพราะเราจ่ายราคานำเข้าในสกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่ขายเป็นบาทนั่นเอง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะทำให้หลายคนเริ่มคลายความสงสัยแล้วว่า การที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอนั้นเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ว่าแล้วก็ลองสำรวจเงินในกระเป๋าแล้วไปเติมน้ำมันกันเลย