ปัจจุบันราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีการคาดการณ์กันว่า ประชากรราว 193 ล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร จากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมายาวนานและยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ผลักดันให้ราคาปุ๋ยสูงตาม ประกอบกับสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำลายพืชผลในประเทศผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ซ้ำร้ายทั้งโลกยังประสบชะตากรรมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การขนส่งและการค้าจำต้องหยุดชะงัก และล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่เป็นปัจจัยให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ยิ่งแพงขึ้นไปอีก
ปัจจัยเหล่านี้จะเอื้อต่อไทยในการขยายฐานการเป็นครัวโลกหรือไม่ แล้วเราจะหยิบฉวยโอกาสนี้ได้อย่างไร เตรียมความพร้อมกันหรือยัง
“ทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน แหล่งข้าวสาลี ธัญพืช ปุ๋ย ที่สำคัญของโลก มีการคาดการณ์ว่าผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตัน จะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน ทำให้กลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารเริ่มออกนโยบายห้ามส่งออก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาระบุ ขณะนี้ 30 ประเทศทั่วโลก ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ แล้ว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติ ส่งผลธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลก จะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี”
...
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อธิบายถึงปัจจัยระดับชาติ โดยเฉพาะสงคราม ที่น่าจะเอื้อต่อไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้น หลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ รัสเซีย ผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อย่างโปแตชและซัลเฟต ยังงดการส่งออก ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้น เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศกังวลว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก
สำหรับบ้านเราหากมองในมุมวิกฤติที่เกิดขึ้น สามารถเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญอันดับต้นๆของโลก
จะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 (มกราคม-เมษายน) เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 สินค้าเกษตรไทยสามารถส่งออกไปโลกเพิ่มขึ้น จาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.22
...
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูน่าปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้
ทั้งนี้ ไทยได้วางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯวางแผนการขับเคลื่อน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด ที่จะช่วยสนับสนุนการวางแผนกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะต่างๆ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับครัวเรือนและท้องถิ่น
...
พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯยังมุ่งมั่นให้ภาคเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข็งแกร่งภายใต้วิกฤติต่างๆ โดยต้องการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรไทยตามนโยบาย Next Normal 2022 ที่มุ่งเน้นการสร้าง ผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Economy Model เช่น การนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตพลังงาน การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อพลังงาน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตร ที่จะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาพลังงานของประเทศที่นับวันราคาจะสูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เพิ่มความมั่นคง และความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมกัน.
กรวัฒน์ วีนิล