มิถุนายนเป็นเดือนที่มีอีกหนึ่งวันสำคัญระดับโลกที่ผู้คนและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ นั่นก็คือ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันนี้ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และโลกก็ส่งสัญญาณเตือนมายังพวกเราอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีหลายกิจการที่ลุกขึ้นมาเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิดว่า ธุรกิจจะสร้างความเติบโตไปพร้อมกับการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง นั่นจึงเป็นพันธกิจของ 3 กิจการเพื่อสังคมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผ่านเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้ายใน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C” รุ่นที่ 11 ซึ่งจัดโดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับสถาบัน ChangeFusion
พัตเตอร์ ปุญญพัฒน์ ว่องไวทยา ตัวแทนจากทีม Goodgrocer ธุรกิจที่ประสงค์เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตที่มีคุณภาพแต่มีรูปลักษณ์ไม่สวยงามนัก เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะจากอาหาร เปิดเผยว่า “เรามองเห็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาขยะจากอาหารเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเห็นมานานและเป็นสิ่งใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญนัก เราจึงหยิบประเด็นเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรที่มักถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่ล้นตลาดหรือแม้แต่ผลไม้ที่มีรูปลักษณ์ไม่สวยแต่มีคุณภาพดีที่เราเรียกว่า Ugly Fruit มาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจด้วยความมุ่งหวังที่จะลดปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งหรือเน่าเสีย ซึ่งเราเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับปัญหาที่คนมองข้ามนั้น จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและโลกใบนี้ของเรา ถือว่าเป็นย่างก้าวที่ดีที่จะค่อยๆ ช่วยบรรเทาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมให้ลดลงในอนาคต”
ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่าในปี 2021 โลกของเรามีอาหารเหลือทิ้งตลอดปีที่พุ่งสูงขึ้นถึง 1 พันล้านตัน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าเกือบเท่าตัวจากปีก่อนและเศษอาหารเหล่านี้กำลังทำให้โลกของเราร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะก๊าซเรือนกระจกจากเศษอาหารดังกล่าวจะคิดเป็นอันดับที่ 3 ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยทั้งหมด ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่ควรถูกมองข้าม
นอกจากเรื่องของอาหารแล้ว “เสื้อผ้า” ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์ แต่ทราบกันหรือไม่ว่าการผลิตเสื้อผ้านั้นก็เป็นหนึ่งในตัวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ตัวอย่างสถิติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำสะอาดกว่า 200 ตันถูกใช้ไปกับการย้อมผ้าทอจำนวน 1 ตัน และร้อยละ 23 ของสารเคมีทั้งหมดทั่วโลกถูกใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ซึ่งบอส-คณิน ทรงอธิกมาศ และกาย-สุวิจักขณ์ นิ่มนวล ตัวแทนจากทีม Swoop Buddy ตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้นและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างแพลตฟอร์มร้านเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ที่ส่งเสริมการใช้เสื้อผ้าที่ถูกผลิตแล้วให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานที่สุด ทั้งสองให้ข้อมูลว่า “สำหรับพวกเราคิดว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่รอไม่ได้และต้องเกิดการแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด เพราะล้วนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งสิ้น พวกเราจึงอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งจากพื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าและเสื้อผ้าก็เป็นสิ่งใกล้ตัวเราทุกคนมาก เราพบว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการผลิตสูงมากจนน่าตกใจ รวมไปถึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เราหันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจังและพยายามหาแนวทางรวมไปถึงสร้างความตระหนักเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เสื้อผ้าอย่างเห็นคุณค่าและยั่งยืน นั่นคือการใช้ซ้ำ แลกเปลี่ยน หรือขายต่อเพื่อลดการซื้อและผลิตใหม่ สำหรับพวกเราแนวคิดหนึ่งที่สำคัญคือเราไม่สามารถใช้ทรัพยากรทุกอย่างบนโลกโดยไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่ตามมาได้ แม้ในอดีตพวกเราจะไม่เคยให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าผลกระทบจากความไม่สนใจของเรามันมีมากขนาดไหนและผลกระทบที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนรุ่นเราเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบที่จะส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานของเราด้วย เพราะฉะนั้น หากเราสามารถทำอะไรให้โลกซึ่งเป็นบ้านของพวกเราน่าอยู่ขึ้นได้ในวันนี้ ก็สมควรลงมือทำทันที”
ปิดท้ายกันที่ปัญหาพื้นที่ป่าที่นับวันก็ยิ่งลดจำนวนลงแม้จะเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน การทำลายพื้นที่ป่านั้นใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ต่างจากการสร้างใหม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อให้ป่าเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน จากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่าตลอดช่วง 20 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ.2000 ถึง 2020 พื้นที่ป่าไม้ของทั้งโลกลดลงจากร้อยละ 31.9 เหลือร้อยละ 31.2 หรือพื้นที่ป่าไม้หดหายมากเกือบ 100 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 650 ล้านไร่ นั่นจึงทำให้ ปาย-จุฑาธิป ใจนวล จากทีม Next Forests ซึ่งริเริ่มธุรกิจที่มุ่งฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน ได้เผยมุมมองว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันนั้นมีความรุนแรงและเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นเป็นผลมาจากการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ แม้เราจะได้ยินเรื่องการรณรงค์ปลูกป่าและรักษาพื้นที่ป่ากันมาตั้งแต่จำความได้ แต่เราก็ยังเห็นข่าวเรื่องไฟไหม้ป่า การบุกรุกและทำลายป่ามาต่อเนื่อง ซึ่งพวกเราทำงานทางด้านการวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาและติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาโดยตลอด เห็นมานานว่าพื้นที่ป่าในประเทศไทยนั้นยังคงถูกทำลายและยังมีช่องว่างในการแก้ไขปัญหาอยู่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เรามีผสมผสานกับการทำกิจการเพื่อสังคมเพื่อฟื้นฟูและปลูกป่ารวมถึงหาวิธีให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ด้วยการออกแบบและวางแผนการปลูกไม้พันธุ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ทั้งเหมาะแก่สภาพภูมิศาสตร์และเหมาะกับการใช้ประโยชน์ของเจ้าของพื้นที่เพื่อให้สามารถดำรงผืนป่าเหล่านั้นไว้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมชุมชนและสร้างมูลค่าให้กับคนในพื้นที่ได้มากขึ้นอีกด้วย”
ทั้ง 3 แนวคิดนี้เรียกว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้ามหรือไม่เคยนึกถึงและให้ความสำคัญมาก่อน การที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่หยิบยกนำเอาแนวคิดเหล่านี้มาต่อยอดเป็นกิจการเพื่อสังคมจึงนับว่าเป็นเรื่องดีต่อสังคมและต่อโลกของเราอย่างมาก แต่แค่ความคิดในการอยากลงมือทำนั้นอาจจะไม่เพียงพอและไปไม่ถึงเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงเสริมสำคัญคือการมีผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาช่วยเติมเต็ม ปัจจุบันทั้ง 3 กิจการ และเพื่อนๆ กิจการเพื่อสังคมรวมทั้งหมด 7 กิจการกำลังอยู่ในกระบวนการบ่มเพาะ ทดลองแผนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ของ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ BC4C” รุ่นที่ 11 พี่ป้อง-รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส - สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราทุกคนและสอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG ของบ้านปู รวมทั้งกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เรามุ่งสร้างการเปลี่ยนผ่านองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ การได้เห็นคนรุ่นใหม่เกิดความตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหยิบยกมาต่อยอดเป็นกิจการเพื่อสังคมจึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ผมในฐานะตัวแทนโครงการฯ ก็ตั้งตารอชม รวมทั้งเป็นกำลังให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจ SE ใน BC4C รุ่น 11 นี้ในการพัฒนากิจการเพื่อสังคมให้เข้มแข็ง และสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด”
ปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนเกิดจากการใช้ชีวิตของทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าทุกคนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ เพียงทุกคนเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ทั้งนี้ 3 กิจการของพวกเขาเหล่านี้จะเดินทางไปสู่ฝั่งฝันและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมมากน้อยเพียงใด สามารถติดตามการพัฒนาการและการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เข้ารอบ 7 ทีมสุดท้ายในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม รุ่นที่ 11 หรือ Banpu Champions For Change (BC4C#11) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions