น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์กรุงเทพฯ พ.ศ.2565 โดยแถลงการณ์ดังกล่าวจะมุ่งการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย การฟื้นฟูการเรียนรู้ และความต่อเนื่องของการเรียนรู้ การกลับเข้าเรียนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย การพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษา การเรียนรู้และทักษะเพื่อชีวิต การทำงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้มีทักษะสูง การพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล การวางแผน การกำกับดูแล และการติดตามผล

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า การปิดโรงเรียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาที่รุนแรงมากขึ้น และวิกฤติการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วแย่ลงกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนกลุ่มเปราะบางอย่างที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเปิดเรียนและกำหนดกลยุทธ์การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนจะตามทันกับการเรียนรู้ที่สูญเสียไป ซึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะร่วมสร้างหลักประกันการกลับเข้าเรียนและรักษาผู้เรียนทุกคนอย่างปลอดภัยในโรงเรียน รวมถึงสร้างกลยุทธ์ฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยใช้มาตรการติดตามและแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมสำหรับแรงกระแทกในอนาคตที่จะต้องมีการปฏิรูประบบแบบองค์รวมมีองค์ประกอบเชื่อมโยงกันในเรื่องนโยบาย วางแผน และการจัดหาเงินทุน ส่วนหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนการสอนควรครอบคลุม เพื่อสะท้อนความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ขณะที่ครูคือหัวใจการปรับเปลี่ยนการศึกษา ดังนั้นระบบการศึกษาจึงต้องปรับแนวคิดใหม่ในเรื่องวิชาชีพครูและเปลี่ยนบทบาทของครูและนักการศึกษาจากผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการสร้างทักษะ จึงต้องมีการปฏิรูปมาตรฐานการสอนและฝึกอบรมนวัตกรรมให้แก่ครู ส่วนการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัลต้องเป็นการเข้าถึงการศึกษาออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

...

“ที่ประชุมขอให้ยูเนสโกติดตามถ้อยแถลงฉบับนี้ด้วยการจัดตั้งโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยและการปรับเปลี่ยนทางการศึกษา พวกเราจะนำเสนอถ้อยแถลงฉบับนี้ต่อที่ประชุมสุดยอด ซึ่งสำนักเลขาธิการสหประชาชาติจะจัดขึ้นที่นครนิวยอร์ก ในเดือน ก.ย.นี้” น.ส.ตรีนุชกล่าว.