โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดทำโครงการก่อสร้าง “อาคารศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Extended OPD)” เพื่อเพิ่มพื้นที่และความเชื่อมโยงการให้บริการ “ผู้ป่วยนอก” กับอาคารผู้ป่วยนอกเดิม (อาคาร ภปร.)

โดยเพิ่มมาตรฐานการคัดกรองผู้ป่วย มีการให้บริการทางการแพทย์ด้วยระบบทางไกล เพื่อรองรับสังคมและเทคโนโลยีในอนาคตให้มีความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“อาคารศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Extended OPD)” ที่ว่านี้สูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 36,850 ตารางเมตร งบประมาณในการก่อสร้างเบื้องต้นราว 3,000 ล้านบาท...สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 6,000 รายต่อวัน ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563

กำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปีงบประมาณ 2566

“สภากาชาดไทย” โดยสำนักงานจัดหารายได้จึงร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดสร้าง “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า”(พระ-ไพ-สัด-ชะ-ยะ-คุ-รุ-ไว-ทูน-ระ-ยะ-ประ-พา-ตะ-ถา-คด-พุด-ทะ-เจ้า) บรมครูแห่งการแพทย์ เพื่อสมทบทุนโครงการก่อสร้างนี้

...

ขรรค์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย บอกว่า อาคาร ภปร. ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนราชดำริตัดกับพระราม 4 สร้างมาตั้งแต่ปี 2532 ให้บริการผู้ป่วยนอกมายาวนาน รับผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 5,000 คน ใช้เวลาเกือบ 3.48 ชั่วโมง...หรือราว 4 ชั่วโมงต่อคน

“แน่นอนว่า บางครั้งก็ล่าช้า คนรอนาน ขนาดมารอรักษากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ที่นั่งรอก็แออัดพอสมควร อีกทั้งการรับส่งก็ยังมีความซับซ้อนอยู่ราวๆ 2 แสนรายต่อปี โรงพยาบาลจึงต้องการเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยนอกขึ้นมาเป็น 6,000 คนต่อวัน แล้วส่งผู้ป่วยโรคซับซ้อนให้ถึง 4 แสนรายต่อปี”

นับรวมไปถึงดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคยากและซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น คลี่คลายการบริการผู้ป่วยนอกที่ประสบปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่บริการที่คับแคบ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีปริมาณมากขึ้น ขาดพื้นที่รอคอย ไม่มีพื้นที่ในการคัดกรองโรคติดต่อ

หรือการจัดบริการรักษาพยาบาลที่เน้นโรคเฉพาะทางทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาพบแพทย์หลายสาขาวิชา หรือต้องมาโรงพยาบาลหลายรอบ

ที่สำคัญคือ...ต้องการลดเวลาการบริการผู้ป่วยให้เหลือ 2.3 ชั่วโมงต่อคน

จึงเกิดโครงการสร้างอาคาร “อาคารศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Extended OPD)” ขึ้นมาระหว่างอาคาร ภปร. กับตึก สก.

“ตึกนี้ได้รับงบฯแล้วจากรัฐบาล 2,800 กว่าล้าน ทางโรงพยาบาลได้มาปรึกษาอยากให้ช่วยหารายได้อีก 800 ล้านบาท เพื่อจะได้มาซื้อเครื่องมือแพทย์ เราเริ่มกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วกับผู้บริจาคบางราย ได้เงินมาจำนวนหนึ่งกว่า 200 ล้านบาท คิดว่าอยากจะทำอะไรขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมให้คนทั่วๆไปร่วมบริจาคสร้างด้วย”

ปรึกษาอาจารย์วันชัย รวยอารี จนได้ทำโครงการบริจาคและจองบูชา “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ขึ้นมา ในส่วนนี้รายได้ที่เข้ามาน่าจะอยู่ที่ 100 กว่าล้าน ซึ่งยังคงขาดอยู่ต้องหาเพิ่มอีก

ในอนาคตอาจจะเป็นการขอโควตาลอตเตอรี่บริจาค รวมถึงเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปอีกเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญนี้

...

“พระที่จัดสร้างมีองค์ละล้าน องค์ละห้าหมื่น องค์ละพัน องค์ละ สองร้อย สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หรือผู้ที่สนใจจะได้ร่วมเช่าบูชาได้ ไม่ใช่ว่าคนรวยเท่านั้นที่จะบริจาค แต่คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถรับพระองค์นี้ไปบูชาได้”

“พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ศรัทธามากน้อยไม่ว่าจะบริจาคหลักร้อยหลักล้านก็มีคุณค่าทั้งนั้น ด้วยว่ามุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างอาคารผู้ป่วยนอกเพื่อเพิ่มศักยภาพบริการผู้ป่วย

ขรรค์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ฝากบอกบุญใหญ่ให้รู้กันไปทั่วประเทศ ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค จองบูชา...เพื่อสมทบทุนโครงการก่อสร้าง

เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อท่าน ครอบครัว หรือบุคคลอันเป็นที่รักเนื่องในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และช่วยปกป้องคุ้มครองคนที่ท่านรักให้ปราศจากโรคภัยทั้งปวง

สั่งจองออนไลน์ได้ที่ https://bhaisajyaguru.redcross.or.th/ จำนวนจำกัด

ผู้ที่บริจาคจะได้รับสิ่งที่เป็นมงคลที่ดีที่สุดและมีพุทธลักษณะที่งดงามที่สุด นำไปบูชาก็ร่มเย็น มีความสุขใจ สุขกาย...เมื่อจิตใจเราร่มเย็นแล้ว สิ่งที่ตามมาก็จะง่ายต่อการคิด...ต่อการปฏิบัติต่อไปในอนาคต

...

ท่านใดที่อยากจะร่วมสร้างบุญด้วยการบอกต่อบุญ หรือร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนโครงการโดยตรงได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี “สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย (๒)” ประเภทบัญชี “ออมทรัพย์” เลขที่ ๐๔๕-๒-๖๒๕๘๘-๘ (ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

อาจารย์วันชัย รวยอารี กรรมการดำเนินการ เสริมว่า “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ถือว่าเป็นสัมโภคกาย เป็นกายที่ไม่มีตัวตน เป็นองค์สมมติพระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก หมายถึง การเกิด การที่ให้แสงสว่าง กายท่านจะเป็นสีน้ำเงิน และท่านจะประทานพร ให้กับพวกเราเรื่องรักษา

เยียวยาทั้ง “กาย” และ “ใจ” ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาลหลังพุทธกาลแล้ว

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างนครวัด นครธม จะเห็นตามเส้นทางที่สร้างอโรคยาสถาน ที่เป็นสถานที่รักษาพยาบาลเกี่ยวกับสุขภาพ ทุกแห่งจะมี “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ตั้งเป็นประธานในสถานที่นั้น ให้ประชาชนได้กราบสักการบูชาและขอพร

อาจารย์วันชัย ย้ำว่า การขอพรไม่ใช่เรื่องงมงาย การที่เรามีศรัทธา ในพระท่านและมีจิตที่ตั้งมั่น จะทำให้เกิดพลัง และการที่เรามีพลัง มีจิตใจที่ดี ผลต่อเนื่องก็มีถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทำให้การรักษาดีขึ้นได้

...

ฉะนั้น ตั้งแต่โบราณนานมาจึงมี “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” เข้ามาเสริมพลังศรัทธาเยียวยาทั้งเรื่องกายและใจมีให้เลือกบูชาหลายแบบ เช่น ตามหลัก “เบญจธาตุ”...ดิน ทอง ไม้ ไฟ น้ำ

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 สภากาชาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นี้ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมคณะเกจิอาจารย์

“พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ความหมายคือเป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นครู ที่มีแสงสว่าง...มีพลังที่สามารถที่จะเอื้ออำนวยช่วยประทานพรให้กับผู้นับถือศรัทธา ให้เกิดพลังในการช่วยเหลือ...ให้คนๆนั้นได้ประสบความสุข ความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ตามควรที่จะมี ในเรื่องสุขภาพทั้ง “ร่างกาย” และ “จิตใจ”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือคนเราต้องมีความศรัทธาเป็นอย่างแรกและต้องเป็นคนดีอันดับสอง เพราะถ้าคุณเป็นคนไม่ดีแต่ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยก็คงเป็นไปไม่ได้ คุณต้องมีศรัทธา ทำความดี และตั้งใจจะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง” อาจารย์วันชัย รวยอารี ทิ้งท้าย.