“สเกตน้ำแข็ง” คือหนึ่งในกิจกรรมสุดเพลิดเพลิน ที่หากใครได้ลองคว้ารองเท้าติดใบมีดลงไปโลดแล่นบนแผ่นน้ำแข็งสักครั้ง ก็ต้องติดใจไปตามๆ กัน เพราะงานนี้นอกจากจะได้ออกกำลังกายแทบจะครบทุกส่วน การได้เลื่อนไถลไปบนแผ่นน้ำแข็งยังเต็มไปด้วยเสน่ห์จากความรวดเร็วและความสวยงามที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว จนไม่น่าแปลกใจที่กิจกรรมนี้จะได้รับความนิยมไม่น้อย และไม่ว่ายุคไหนก็ต้องมีลานสเกตน้ำแข็งให้ผู้สนใจได้ไปเล่นกันเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม แม้สเกตน้ำแข็งจะได้รับความสนใจและอยู่กับคนไทยมายาวนาน แต่หากมองลึกไปถึงระดับการแข่งขันกลับเป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงกันข้าม ด้วยจำนวนนักกีฬาที่มีจำนวนน้อยจนน่าใจหาย จนทำให้ขาดการแข่งขันเพื่อพัฒนา และทำให้ไทยไม่สามารถก้าวไปได้ไกลนักในเวทีระดับนานาชาติ

“ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนานักกีฬาขึ้นมาประดับวงการได้?” จึงเป็นโจทย์แรกๆ ที่ “ดร.เก๋ - สุวรรณา ศิลปอาชา” ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือใหญ่วงการสเกตน้ำแข็งไทยตั้งเป็นเป้าหมาย ณ วันที่ลงมาบริหารงานนี้เต็มตัวในฐานะนายกสมาคมกีฬาฟิกเกอร์สเกตแห่งประเทศไทย และนับจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ในวันนี้ประเทศไทยก็มีแล้วทั้งนักกีฬาที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันระดับนานาชาติ และเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถผ่านการคัดตัวเข้าไปสู้ศึกโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว

มีเรื่องราวอะไรบ้างอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราก้าวมาไกลกว่าที่คิด และเป็นการก้าวที่เรียกได้ว่า “มาถูกทาง” ไทยรัฐออนไลน์ชวนทุกคนมาติดตามเรื่องราวทั้งหมดด้วยกันในบทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.เก๋ - สุวรรณา ศิลปอาชา” หญิงแกร่งที่มอบหัวใจทั้งดวงให้วงการสเกตน้ำแข็งไทย นับจากวันที่โดนมองข้าม สู่วันที่สเกตน้ำแข็งฉายแสง

จากคุณแม่นักสเกต สู่นายกสมาคมที่ใช้หัวใจบริหาร

“จริงๆ ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าวงการนี้ มาจากการที่เรามีลูกสาวชอบเล่นสเกตน้ำแข็ง”

ดร.เก๋ เกริ่นกับเราเมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจก้าวสู่วงการกีฬาที่น้อยคนจะให้ความสำคัญในยุคนั้น ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่าลูกสาว “น้องเทมส์ - ฑีฆรี ศิลปอาชา” เติบโตมาพร้อมกับความหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ โดยมี Disney on Ice เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ตนเองจึงอาสาพาลูกสาวไปเล่นอยู่เสมอ จากตอนแรกที่น้องเล่นเป็นงานอดิเรก ก็ค่อยๆ จริงจังมากขึ้น จนในที่สุดก็เลือกที่จะเป็นนักกีฬาสเกตน้ำแข็งเต็มตัว เมื่อ ดร.เก๋ เห็นความมุ่งมั่นของลูกสาว ก็เกิดความสนใจในกีฬาชนิดนี้มากขึ้น และเริ่มศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเกตน้ำแข็ง ประกอบกับในขณะนั้น ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา สามีของ ดร.เก๋ ผู้ซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคม มีภารกิจอื่นๆ อีกมากที่ต้องบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่ จึงได้เชิญ ดร.เก๋ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยดูแลงานหลายๆ อย่างในสมาคม และเมื่อผลลัพธ์ต่างๆ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว และยังเป็นการเปิดม่านยุคใหม่ของสเกตน้ำแข็งในไทยไปพร้อมกัน

หากย้อนไปในวันที่ ดร.เก๋ ก้าวเข้ามา ในตอนนั้นวงการสเกตน้ำแข็งไทยยังเรียกได้ว่าเงียบเหงา ด้วยจำนวนนักกีฬาที่น้อยจนทำให้การแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การชิงแชมป์ประเทศไทยในสมัยนั้นมีนักกีฬาเข้าร่วมราว 20 คนเท่านั้น และบางรุ่นก็มีลงแข่งเพียงคนเดียว งานนี้จึงเป็นการบ้านที่ค่อนข้างจะหนักสำหรับ ดร.เก๋ ที่ถึงแม้จะมีดีกรีการศึกษาทั้งในด้านบริหารจากมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ตาม และสิ่งแรกๆ ที่ ดร.เก๋ เลือกจะทำคือการ “เริ่มจากตัวเอง”

การเริ่มจากตัวเองคือหนึ่งในทัศนคติการทำงานที่ ดร.เก๋ ให้ความสำคัญมาก และสำหรับบทบาทการเป็นผู้นำวงการสเกตน้ำแข็ง การเริ่มที่ตัวเองในครั้งนี้ก็คือการมองหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้เด็กๆ และนักกีฬาเชื่อมั่นและไว้ใจในตัวเธอ เนื่องจากเธอเล่นสเกตน้ำแข็งไม่เป็น และไม่ได้เป็นนักกีฬามาก่อน ซึ่งคำตอบของ ดร.เก๋ ก็คือการเข้าไปเรียนรู้การเป็นกรรมการตัดสินกับทางสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติอย่างหนัก กระทั่งเชี่ยวชาญและสามารถตัดสินในระดับนานาชาติได้ เมื่อมีครบทั้งความรู้ในกีฬาและความสามารถในการจัดการ เธอจึงได้รับความเชื่อมั่นและสิ่งนี้ก็กลายเป็นหนึ่งกุญแจสำคัญเพื่อเดินหน้าภารกิจปั้นกีฬาสเกตน้ำแข็งในไทย

“เด็กๆ เขาจะเรียกเราว่าน้าเก๋ พอเราตัดสินเขาได้เขาก็จะเชื่อเรา ถ้าเราไปยืนบอกเขาโดยที่เราไม่มีอะไร พูดให้ตายเขาก็ไม่เชื่อเรา ก็คืออย่างน้อยเราก็ต้อง Earn the Trust ก่อน ต่อจากนั้นพอเขาจะทำอะไรอย่างทำโปรแกรมฝึกฝนเราก็จะแนะนำเขาได้ด้วยสายตาของคนที่เป็นกรรมการตัดสิน เพราะว่ามุมมองของคนที่ไม่ได้เล่นสเก็ตกับคนที่เล่นสเกตมันจะต่างกัน บางอย่างที่เด็กๆ เขามองข้ามเราก็จะช่วยแนะนำ ให้นำไปเสริมเข้ากับเทคนิคที่เขามีอยู่แล้ว ด้วยมุมมองแบบนี้ก็เลยทำให้เป็นข้อดีและเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะพัฒนาเด็กขึ้นมาได้”

ด้วยแนวทางบริหารโดยใช้ใจแลกใจ ผสานการแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญทำให้วงการพัฒนาจากจุดเริ่มต้นทีละน้อย ซึ่ง ดร.เก๋ เล่าให้เราฟังว่านักกีฬาไทยเราเก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สเกตน้ำแข็งบ้านเรามีอัตราการก้าวหน้าเทียบเท่ากับ 20 ปีของญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะยังเทียบความแข็งแกร่งกันไม่ได้ เพราะบ้านเขาพัฒนากันมาแล้วมากกว่า 70 ปี แต่เราก็กำลังมาถูกทางและมีศักยภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พิสูจน์จากการที่มีนักกีฬาสามารถคว้าเหรียญในซีเกมส์ 2 ครั้งที่ผ่านมา รวมไปถึงมีเยาวชนที่สามารถทะลุเข้าไปแข่งขันในศึกโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาวได้เป็นครั้งแรก เหล่านี้นับเป็นสัญญาณที่ดีและจะเป็นรากฐานของการเติบโตในอนาคต

“นอกจากนี้ในส่วนของจำนวนนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ลานสเกตก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ทุกวันนี้มีลานสเกตระดับที่เราสามารถแข็งขันระดับโลกได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่อีก 2-3 ลาน แล้วก็จำนวนนักกีฬาที่มันเพิ่มมากขึ้นมากทุกปีๆ การคัดตัวแต่ละครั้งมีเข้าร่วมมากกว่าร้อยคน นอกจากนี้เรายังได้เป็น Sport Hub เป็นหนึ่งในห้าของโลกที่เป็น Center of Excellence ซึ่งเป็นอะไรที่ยากมากๆ ถึงจะได้ Title นี้มา พอเราได้มาตรงนี้ โดยเริ่มจากศูนย์ จากไม่มีอะไรเป็นเพียงลานมืดๆ เพราะว่าสมัยก่อนเขาจะเปิดไฟนิดเดียวเพราะว่ากลัวเปลืองไฟ เพราะค่าไฟแพง เดี๋ยวนี้เรามองกลับไปมันคนละเรื่อง จากที่เรามีออฟฟิศห้องเล็กๆ อยู่ใต้ราชมังคลาฯ มีเจ้าหน้าที่ 1 คน ณ ตอนนี้พนักงานทั้งหมดรวมโค้ชมีเกือบ 50 คน ซึ่งมันก็ไม่น้อย จากสมาคมเล็กๆ จนวันนี้เรากลายเป็นสมาคมใหญ่ มันจึงเป็นความภูมิใจที่เราสร้างมากับมือ”

แบบอย่างของความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ พร้อมสู้เพื่อชัยชนะ

“เก๋เป็นคนชอบเอาชนะ” ผู้บริหารสาวกล่าวกับเรา ซึ่งเธอได้ขยายความเพิ่มเติมว่าการมุ่งมั่นเอาชนะคือหนึ่งในมุมมองการใช้ชีวิตที่ได้นำเอามาปรับใช้ในการบริหารงานสมาคม โดยการเอาชนะดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการดึงดันจะสู้ในทุกเวที แต่เป็นการสู้อย่างมีแบบแผนและผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีว่ามีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ เช่นก่อนหน้านี้ ดร.เก๋ เคยมีโอกาสเข้าไปสัมผัสวงการฟุตบอล แต่ก็พบว่าตนไม่เหมาะกับกีฬาประเภทนี้ ก็ตัดสินใจถอยออกมา แต่พอเข้ามาจับกีฬาสเกตน้ำแข็งก็รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้หัวใจบริหาร ซึ่งเหมาะกับตนมากกว่า

“เก๋ใช้ตัวเองเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ คือถึงเราจะบอกนักกีฬาให้สู้ให้ตาย ให้ได้เหรียญ หากเราพูดอย่างเดียวแต่เราไม่ทำน่ะไม่ได้ เก๋จึงพยายามทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดในฐานะผู้บริหารคนหนึ่ง รวมถึงในฐานะแม่นักสเก็ตคนหนึ่ง จนวันนี้เราก้าวจากตำแหน่งนายกสมาคมและได้เข้ามานั่งเก้าอี้กรรมาธิการสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ ซึ่งต้องรับผิดชอบทั่วโลก เราจึงสามารถบอกกับนักกีฬาได้ว่า ก่อนหน้านี้น้าเก๋ไม่ได้มีอะไรเลย น้าเก๋มีแต่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะไปอยู่ตรงนั้น แต่วันนี้ลูกมีทุกอย่าง เด็กๆ มีทุกอย่าง มีทั้งโค้ชที่เก่ง มีทั้งผู้สนับสนุน มีคนที่เอาใจช่วยมากมาย แต่น้าเก๋นี่ยังไม่มีนะ แต่น้าเก๋ยังไปได้ ดังนั้นจำไว้ว่าคนไทยทำได้”

สู่บทบาทกรรมาธิการสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของสเกตน้ำแข็งไทย

นอกเหนือการปลุกปั้นสเกตน้ำแข็งไทย อีกหนึ่งความสำเร็จของ ดร.เก๋ ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการได้เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมาธิการด้านการพัฒนากีฬา สหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ ซึ่งองค์กรนี้หากเปรียบกับฟุตบอลก็คงคล้ายกับฟีฟ่า ซึ่งแม้จะน่าเสียดายที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งนี้จะต้องวางมือจากการเป็นนายกสมาคมตามข้อบังคับ แต่นี่ก็คือหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญของไทยที่สามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในองค์กรระดับชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนากีฬาสเกตน้ำแข็งในไทยอย่างมหาศาล

“การที่เก๋ได้เข้าไปนั่งในสหพันธ์สเกตน้ำแข็งโลก มันค่อนข้างจะตื่นตาตื่นใจกับต่างชาติมาก ลองนึกภาพว่าคนอื่นเขาเป็นตัวแทนจากประเทศอเมริกาแล้วก็ประเทศในฝั่งยุโรปหมดเลย เป็นเหมือนประเทศที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องแบบนั้นอยู่แล้ว เป็นระดับตำนานของกีฬานี้ แต่พอมาถึงไทยแลนด์ คือนึกออกไหมธงไทยไปอยู่ในผู้บริหาร ซึ่งเราภูมิใจมากนะ แล้วเราก็ไม่คิดว่าทำเพื่ออะไร คิดแค่ว่าถ้าเราไปอยู่ตรงนั้น อีกหน่อยมันทำให้ง่ายขึ้นสำหรับนักกีฬาเรา ไม่ได้หมายถึงว่าง่ายในเรื่องของซิกแซกนะ แต่มันง่ายในเรื่องของเด็ก เขาจะคิดว่าน้าเก๋ของเขายังทำได้เลย ทำไมฉันจะทำไม่ได้ แล้ววันนี้พวกเขาก็พยายามกันมาก แล้วมันก็ก้าวกระโดดมาก เด็กอย่างเช่นน้องมีนาซึ่งเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ไปร่วมรายการแข่งขันคัดตัวโอลิมปิกฤดูหนาวและได้รับสิทธิให้ไปแข่งในรายการชิงชนะเลิศระดับโลก ISU World Short Track Speed Skating Championships แม้เราอาจจะไม่ติดเบอร์หนึ่งแต่การได้รับสิทธิในการแข่งขังระดับโลกก็ไม่ง่ายสำหรับเรา ซึ่งเราสามารถทำคะแนนผ่านเกณฑ์ได้แล้ว นี่มันเป็นสเตปเล็กๆ ที่มันไม่ใช่ว่าทำวันนี้ได้ แต่มันเป็นสเตปที่เราต้องปูพื้นฐานเพื่อวันข้างหน้า ณ วันนี้เก๋มองไปอีก 4 ปีข้างหน้า เก๋อยากจะเป็นคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาสเกตน้ำแข็งไทยไปโอลิมปิกฤดูหนาวที่มิลาน ซึ่งสเกตน้ำแข็งเป็นหนึ่งในกีฬาที่ยากที่สุดและเก๋อยากพาเขาไปครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถือธงไทยไป แล้วมันก็คงจะน่าภูมิใจมาก เป็นความฝันสูงสุดของเรา”

การเตรียมความพร้อมจัดประชุมสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ ณ ภูเก็ต

ไม่เพียงแค่งานในการพัฒนากีฬาและการแข่งขันเท่านั้น อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ ดร.เก๋ ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือการพาทุกสายตาในวงการสเกตน้ำแข็งจับจ้องมายังประเทศไทยในการจัดประชุมสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ ณ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 5-11 มิถุนายน 2565 โดยต้องขอขอบคุณ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติและการกีฬาแห่งแประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

เหตุที่การประชุมครั้งนี้ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากภายในงานจะมีวาระสำคัญๆ มากมาย ไม่เพียงการโหวตเลือกคณะบริหารใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นใหญ่ๆ เช่น การโหวตประเด็นที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากเหตุสงครามระหว่าง รัสเซีย เบลารุส และยูเครน จึงกล่าวได้ว่าการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นวาระพิเศษที่จะทำให้ชื่อของประเทศไทยถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายช่วยให้วงการสเกตน้ำแข็งไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปยังช่วงเวลาของการ Bid เพื่อขอเป็นเจ้าภาพ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจซึ่งเกิดจากการทำการบ้านอย่างหนักของ ดร.เก๋ นั่นคือการสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำเสนอสิ่งดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นผู้ชนะในการ Bid โดยสิ่งที่ ดร.เก๋ เตรียมคือการมองหาว่าสถานที่แห่งใดในไทยที่จะสร้างความประทับใจให้กับต่างชาติได้ดีที่สุด ซึ่งหลังจากได้มีการปรึกษากับ TCEB (Thailand Convention & Exhibition Bureau) เพื่อจัดเตรียมข้อมูล ก็ทำให้มั่นใจว่าภูเก็ตจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติได้ เมื่อแผนงานพร้อมจึงได้ส่งชื่อเข้า Bid ซึ่งในครั้งนี้มีประเทศส่งชื่อเข้าเสนอมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเป็นการจัดประชุมครั้งสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดประเทศไทยก็ชนะมาได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาตามทัศนคติที่ ดร.เก๋ เชื่อมั่น และความสำเร็จนี้ก็เป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่จะสนับสนุนให้สเกตน้ำแข็งประเทศไทยก้าวไปอีกขั้น

ก้าวต่อไป กับฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อมถึง

เมื่อได้ฟังเรื่องราวการต่อสู้จากศูนย์ถึงวันที่ทุกอย่างถูกประกอบให้เป็นรูปเป็นร่าง ก็ทำให้เราอดทึ่งไม่ได้กับวิสัยทัศน์และความสามารถของ “ดร.เก๋” หญิงแกร่งแห่งวงการสเก็ตน้ำแข็งไทยที่พากีฬานี้มาไกลมากเหลือเกินนับจากจุดเริ่มต้น

สิ่งที่น่าสนใจลำดับถัดไปคือเมื่อเราเริ่มมีฐานรากที่มั่นคงพอสมควรแล้ว เป้าหมายต่อไปที่ ดร.เก๋ วางแผนไว้นั้นคืออะไร? ซึ่งเมื่อสอบถามเรื่องนี้เธอก็ตอบเราแทบจะในทันทีด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ทำให้มั่นใจได้ว่าเราอาจจะเห็นมันความสำเร็จที่เธอเอ่ยพร้อมๆ กันในอีกไม่นานนัก

“เก๋จะพยายามให้คนรู้จักกีฬานี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ว่าสเกตน้ำแข็งไม่ใช่กีฬาสำหรับประเทศในเขตหนาวอย่างเดียว เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึง เพราะว่ากีฬานี้เราไม่ได้ต้องการหิมะ เราต้องการแค่ลานน้ำแข็ง และในปัจจุบันลานสเกตในบ้านเราก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญก็คือกีฬาสเกตน้ำแข็งยังได้ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งในกีฬาเยาวชนแห่งชาติมาถึง 4 ครั้ง และเรายังพยายามผลักดันให้กีฬาชนิดนี้ได้มีการบรรจุอยู่ในกีฬาแห่งชาติในปีหน้าด้วย มันก็จะทำให้การเข้าถึงกีฬาสเกตของคนไทยมีมากขึ้น และเมื่อไหร่ที่คนเข้ามาเล่นกันมากขึ้น นักกีฬาก็มีโอกาสที่จะเก่งขึ้น เราเชื่อมั่นในทีมงานของเรา และเราคิดว่าเราสามารถที่จะผลักดันนักกีฬาให้ไปสู่โอลิมปิกฤดูหนาวได้ ไม่ช้าก็เร็วค่ะ”