ภาวะน้ำมันแพง ราคายางก็มักได้รับอานิสงส์ราคาดีตามไปด้วย เพราะผู้คนต่างหันมาสนใจนำยางธรรมชาติมาใช้ทดแทนยางสังเคราะห์ที่ได้มาจากผลิตผลของปิโตเลียม แม้เรื่องของราคาจะกระเตื้องขึ้นจากหลายเหตุผล แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โรงงานผลิตน้ำยางรายใหญ่งดรับซื้อยาง บวกกับภาวะปุ๋ยแพงที่กำลังเกิดขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติตอนไหน ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มเกิดความวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำยางข้นรายใหญ่ที่หยุดรับซื้อน้ำยางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้เปิดรับซื้อน้ำยางตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นฤดูที่สวนยางพาราส่วนใหญ่ปิดกรีด จึงทำให้มีปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดไม่มากนัก คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด เป็นน้ำยางข้นเพียงประมาณวันละ 100 ตัน หรือประมาณสัปดาห์ละ 600 ตันเท่านั้น ราคายางจึงค่อนข้างมีเสถียรภาพ

...

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆที่ กยท.ได้ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการขายยางแผ่นรมควันในตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการชะลอการขายยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยสนับสนุนให้เกษตกรหรือสถาบันเกษตรกร แปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน รวมทั้งโครงการสนับสนุนถังเก็บรักษาน้ำยางสดเพื่อชะลอขายยาง จะช่วยดึงปริมาณยางออกจากระบบ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง

ทั้งนี้ กยท.จะสนับสนุนแท็งก์เก็บน้ำยางสด พร้อมสารเคมีสำหรับยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการรวบรวมน้ำยางสด จะสามารถคงคุณภาพยางได้นานประมาณ 1-2 เดือน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพเช่นกัน

“ถ้าหากพิจารณาจากสถานการณ์ยางพารา ที่ขณะนี้สวนยางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปิดการกรีดยาง และจากการดำเนินมาตรการในเชิงป้องกันผลกระทบของ กยท.แล้ว เกษตรกรชาวสวนยางไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเกษตรกรเริ่มกรีดยางในเดือนมิถุนายนนี้ ราคายางจะตกต่ำกว่าปัจจุบัน ขอยืนยันว่าราคายางยังคงมีเสถียรภาพแน่นอน” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวยืนยัน.