การตั้งเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ กรณีการควบรวมธุรกิจ ดีแทคกับทรู ที่เริ่มต้นจาก กลุ่มแรกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปเมื่อสัปดาห์ก่อนมี รศ.ศุภช ศุภัชลาศัย เปิดงานในการฟังความเห็นเรื่องของผลกระทบจากการควบรวมด้านอุตสาห กรรมที่เกี่ยวข้อง เป็น Focus Group จากนั้นจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และสุดท้ายผลกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็คือ กสทช. ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน จะรวบรวมความเห็นในกรอบเวลาที่จำกัดตามโครงสร้าง 3 ระดับ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในแง่ของข้อกฎหมายที่ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นไปตามประกาศตามมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่ผู้ประสงค์จะได้รับใบอนุญาตได้ยื่นเรื่องต่อเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น หรือมีกฎหมายอื่นประกอบด้วยตามกรอบเวลา 90 วัน และการรวมธุรกิจส่งผลให้ดัชนี HHI มากกว่า 2,500 หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากกว่า 100 หรือไม่
เรื่องนี้ กสทช.ต้องทำให้โปร่งใส เพราะเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง อนุญาต หรือ ไม่อนุญาต ตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมมาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
บนโจทย์ที่ว่าถ้ามีการควบรวมแล้ว จะเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญ่ 2 ราย จะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมหรือไม่เพียงใดที่ไม่เพียงแต่ผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆด้วย รวมทั้งค่า HHI การแข่งขันด้านธุรกิจโทรคมนาคมจะเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่
ต่อมาก็คือ การรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท ผลกระทบกับการกำหนด spectrum cap ของผู้ขอใบอนุญาตแต่ละราย จะใช้มาตรฐานใดหากมีการควบรวมไปแล้ว และจะกระทบกับธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ หากกระทบ กสทช.จะดำเนินการรับผิดชอบอย่างไรเช่นจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่
...
ในส่วนของผู้ประกอบการภาครัฐ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ที่ถือว่าเป็นผู้ให้บริการต้นน้ำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับทั้งผลกระทบและมีส่วนได้ส่วนเสียในมุมมองของภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่ได้ฟันธงชัดเจน แต่ขอให้ดูเรื่องของการผูกขาดรายได้ และจำนวนผู้ใช้บริการ สำหรับมุมมองของสหภาพแรงงาน NT ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะเกรงว่าจะเป็นการผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด อยากให้เกิดสตาร์ตอัพ OTT มากกว่า
ภาพรวมก็คือเราต้องมองไปถึง การพัฒนาของธุรกิจโทร คมนาคม ที่จะต้องมีความต่อเนื่อง ทุกอย่างไม่ได้หยุดอยู่แค่ 5G ยังมี 6G ที่ต้องการการลงทุนที่สูงมาก มุมมองด้านกฎหมายมีความเป็นห่วงว่า กสทช.จะตกหล่มประเด็นข้อกฎหมายเสียเอง ในส่วนของสภาหอการค้าอยากเห็นการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
มาถึงทางออกสุดท้ายที่ กสทช.จะต้องพิจารณาตัดสินการให้ใบอนุญาตจะใช้หลักผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้งหรือไม่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าอย่างไร ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th