การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศต้องหยุดชะงัก “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบหนัก” ต้องรอการฟื้นฟูอีกนานทำให้ “อาชีพมัคคุเทศก์ หรือไกด์นำเที่ยว” ที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังต้องเจอมรสุมตกงานเข้าสู่ปีที่สามเช่นเดิม

แม้ปัจจุบันนี้สถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น เริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้เคียงเป็นปกติก็ตาม แต่ด้วยความไม่แน่นอนของ “เชื้อไวรัสโควิด–19” ที่สามารถกลายพันธุ์ได้อยู่ตลอดเวลาทำให้ “มัคคุเทศก์บางคน” จำเป็นต้องดิ้นรนผันตัวเองเปลี่ยนอาชีพหันมาค้าขายหารายได้ เพื่อความอยู่รอดกันมากมาย

อย่างกรณี “ลลิตา นาซ่า อายุ 49 ปี” ผู้ที่เคยโลดแล่นบนสายงานวิชาชีพไกด์นำเที่ยวมานานกว่า 10 ปี “ต้องตกงานไม่มีบริษัททัวร์จ้างเกือบ 2 ปี” แต่ชีวิตไม่ย่อท้อต่อวิกฤติถอดหัวโขน “หนีเมืองหลวงสู่บ้านเกิด” หันมาเป็นแม่ค้าขายลูกชิ้นยืนกิน 10 บาท ใกล้ต้นมันปลาใน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้

...

เริ่มจากทำน้ำจิ้มลูกชิ้นกินกันเองในครอบครัวที่ปรับสูตรมาหลายเดือนจับพลัดจับผลูสุดท้ายได้ “น้ำจิ้มสูตรเด็ด” กลายเป็นประสบความสำเร็จใน 2 เดือน สร้างผลกำไรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000-40,000 บาท และตั้งหลักทำธุรกิจทอดลูกชิ้นขายจริงจัง “ทีมสกู๊ปหน้า 1” แวะเวียนผ่านมาเจอพอดีเลยถือโอกาสลองชิมดูสักหน่อย

แล้วในระหว่างนั่งกินลูกชิ้นทอดอยู่นั้น “ลลิตา นาซ่า” เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนามีฐานะค่อนข้างยากจนมาก “ไม่มีที่ทำกินเยอะเหมือนคนอื่น” บางวันไม่มีข้าวสารแม้แต่จะกรอกหม้อต้องออกไปขอยืมข้าวเพื่อนบ้าน หรือจับปูจับปลามาได้ก็นำไปแลกข้าวมากินประทังชีวิตกัน

ช่วงเรียนชั้นมัธยมปลาย “ได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ในหมู่บ้านทำงานโรงแรมใน กทม.ที่มีรายได้ดีมาก” ทำให้มุ่งมั่นตั้งใจเรียนวิชาภาษาอังกฤษจริงจัง และมักได้คะแนนดีทุกเทอม แต่พอใกล้เรียนจบ “แม่เสียชีวิต” ทำให้ฝันสลายไม่มีโอกาสได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย

ตัดสินใจมุ่งหน้าเข้า “กทม. ตามหาความฝัน” เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อเข้ากะตอนเช้าได้รับเงินเดือน 7 พันกว่าบาท ในช่วงบ่ายว่างก็ออกไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ จนสามารถสื่อสารขั้นพื้นฐานได้ดี และก่อนย้ายมา “ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับโรงแรมแห่งหนึ่ง” ภายในซอยสุขุมวิท 1 ได้สักพักใหญ่

ทำให้มีโอกาสเจอ “ชาวต่างชาติชวนมาทำงานบริษัททัวร์” ที่ได้เดินทางไปต่างประเทศมากมาย “ชีวิตเริ่มมีความสุขรักอาชีพท่องเที่ยว” พอมีเวลาว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไปเรียนฝึกอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์อีก

ไม่นานก็ลาออกจากบริษัททัวร์ผันตัวมา “รับงานไกด์นำเที่ยว” เพราะเป็นงานอิสระ รายได้ดี เน้นรับนักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ ทำไปทำมาลูกทัวร์หลายคนชื่นชอบในการบริการจนมีงานเข้ามาเรื่อยๆไม่ขาดสาย

คราวนั้นยิ่งชื่นชอบ “อาชีพไกด์นำเที่ยว” เพราะมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวทุกวัน แถมยังมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท ที่ยังไม่รวมเงินค่าน้ำจากการแนะนำพาท่องเที่ยวไปนอกโปรแกรมอีกมากมาย

และถามว่า “อาชีพไกด์นำเที่ยวมั่นคงหรือไม่...?” ตอบเลยว่า “เป็นอาชีพเสี่ยงตกงานสูงมาก” ด้วยปัจจุบันนี้มี “ไกด์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน” แล้วเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างทำงานเก่งภาษาดี ดังนั้น “ไกด์รุ่นเก่า” จึงต้องพัฒนาหาลูกเล่นในด้านการบริการ เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ลูกทัวร์มากที่สุด

เพราะนั่นคือ “การได้งานครั้งต่อไป” ที่บริษัททัวร์จะเรียกใช้งานประจำเรื่อยๆ ส่วนตัวจุดเด่นการทำงานมัก “ใช้หลักนักท่องเที่ยวเป็นเสมือนเพื่อน” เช่นนี้ก็เหมือนพาเพื่อนไปเที่ยวตามจุดสถานที่สำคัญ “เน้นแบบความเป็นส่วนตัว” แต่คอยเทกแคร์ให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ หรือแก้ปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวในบางกรณีเท่านั้น

...

สิ่งสำคัญ “ไม่บังคับลูกทัวร์ซื้อของหวังค่าเปอร์เซ็นต์เด็ดขาด”

เพราะไกด์นำเที่ยวบางคนมักพาไปซื้อของจากร้านค้ากำหนดราคาสูง หรือบังคับซื้อแพ็กเกจเสริมดูโชว์ต่างๆ เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นแบ่งกับบริษัททัวร์ ถ้านักท่องเที่ยวไม่ยอมซื้อมักถูกข่มขู่อย่างกรณี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่เป็นข่าวไปเมื่อหลายปีก่อนนี้

ชีวิตโลดแล่นบน “สายอาชีพนำเที่ยว 10 ปี” สามารถสร้างรายได้เดือนละ 50,000-70,000 บาท จุดพลิกผันของชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2563 ก็เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาดเข้ามาในไทยอย่างรวดเร็ว คราวนั้นคิดว่า “น่าจะเอาอยู่ภายใน 2–3 เดือนแล้วกลับมาทำงานปกติ” ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย

กลับกลายเป็นฝันร้าย “เมื่อมาตรการควบคุมโรคระบาดเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ” ทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยชะลอตัว “บริษัททัวร์ไม่มีลูกค้า” กระทบมาถึงไกด์ไม่ถูกจ้างงานมาจนถึงวันนี้

“อาชีพไกด์ได้เงินมาง่าย และใช้จ่ายออกง่ายเช่นกัน ในบางคนสนุกสนานกับแสงสีมักไม่เก็บเงินด้วยซ้ำ แต่ด้วยตัวเองชีวิตเคยเจอความยากลำบากตั้งแต่เด็กต้องปากกัดตีนถีบมาจนโต ทำให้มุ่งเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณอยู่ตลอด แต่ก็มาเจอวิกฤติโรคระบาดก่อนจนงานถูกยกเลิกที่ไม่รู้จะกลับมาปกติอีก

เมื่อไหร่” ลลิตาว่า

ยิ่งว่านั้น “สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม” ไม่มีวี่แววจะคลี่คลายกลายเป็น “อาชีพไกด์ตกงานกันทั่วประเทศ” ส่วนใหญ่ก็มักไม่มีอาชีพอื่น

รองรับ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแต่ละวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นสิ่งที่ทำได้คือ “นั่งๆ นอนๆ อยู่ห้องเกือบ 2 ปี” จนเริ่มคิดทบทวนหาทางทำมาหากินอย่างอื่น

...

กลายเป็นเผชิญ “ความเครียดหนัก” เพราะไม่มีรายได้แต่มีค่าใช้จ่ายคงเดิม ส่วนเงินเก็บก็ค่อยๆร่อยหรอลงแล้ว “โควิดก็ไม่ปรานีให้มีทางเลือกเลยตัดสินใจกลับบ้านเกิด อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ” ในช่วงแรกไปเรียนฝึกทำสเต๊ก และสปาเกตตี ขายตามตลาดเปิดท้าย แต่เมื่อดูตลาดคนกินในพื้นที่ไม่น่าจะชอบอาหารประเภทนี้

สุดท้ายเลือกตัดสินใจ “ขายลูกชิ้นทอดเปิดเป็นเพิงเล็กๆหน้าบ้าน ตัวเอง” แต่ก็เจออุปสรรคในพื้นที่หมู่บ้าน “มีผู้ขายเจ้าเก่าดั้งเดิมหลายคน” แต่พยายามทำการบ้านเพื่อขอส่วนแบ่งการตลาด “ตั้งเป้ามีเงินเข้ากระเป๋าวันละ 200–300 บาทก็พอ” เพื่อประคับประคองในช่วงวิกฤติโรคระบาดผ่านพ้นไปให้ได้ก่อน

เริ่มจากคิด “สูตรน้ำจิ้มลูกชิ้น” เพราะเป็นหัวใจสำคัญเน้นรสชาติเผ็ดนำมีกลิ่นหอมพริก ด้วยการศึกษาวิธีการทำมาจากโซเชียลฯ “ลักษณะขายไปปรับสูตรไป” ที่ปรากฏมีรายได้วันละ 300-400 บาท

สุดท้ายตัดสินใจย้ายมา “เปิดร้านลูกชิ้นยืนกินแบบถาวรในตัว อ.ขุนหาญ รองรับลูกค้า” สร้างการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์กลุ่มเป้าหมายหลัก “คนพื้นที่อายุ 20–45 ปี” ที่นิยมชื่นชอบลองชิมอาหารเปิดใหม่

...

ในระหว่างนี้ “ลูกค้าตำหนิ–ติชมตรงจุดใด” มักนำกลับมาปรับปรุงใหม่ตลอดจน “น้ำจิ้มลูกชิ้นคงที่ก็นำไปตรวจค่าพีเอช” เพื่อรักษารสชาติ และอายุให้อร่อยคงเดิม แล้วไม่นานลูกค้าเริ่มติดใจรสชาติเพิ่มมากขึ้น

ส่วนลูกชิ้นทอดก็ซื้อจากตลาดทั่วไป แต่เรามีเคล็ดลับวิธีการทอดให้อร่อย เช่น เมนูลูกชิ้นเอ็นเนื้อ และลูกชิ้นเอ็นหมูมักมีจุดเด่น “กรอบนอกนุ่มใน” เมนูลูกชิ้นค็อกเทลทอดให้มีสภาพไม่เหี่ยวคงความกรอบอยู่ตลอด

ปัจจุบัน “เปิดร้านมา 2 เดือน” สามารถขายเฉลี่ยวันละ 30 กก.หักต้นทุนเหลือกำไรวันละ 1,000-2,000 บาท ทำให้รู้สึกสนุกกับการค้าขายลูกชิ้นทอดมากขึ้นเรื่อยๆ “แม้ว่ารายได้จะน้อยกว่าอาชีพไกด์นำเที่ยว” แต่เราโอเคกับเงินกำไรแค่เท่านี้ เพราะมีความสุขที่ได้อยู่บ้าน และมีเวลาพักผ่อนทำสวนปลูกผักกินเองอย่างสบายใจ

อนาคตไม่คิดขยายไปกว่านี้ “ด้วยธุรกิจเติบโตมากการแข่งขันยิ่งสูงมักนำมาซึ่งความเครียด” อันเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ขอเลือกอยู่อย่างพอเพียงแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งตอนนี้ “ประเทศไทยเปิดรับต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว” ก็เริ่มมีบริษัททัวร์ติดต่องานเข้ามาต่อเนื่อง แต่เราต้องปฏิเสธไปเช่นกัน

สาเหตุเพราะ “เลือกเส้นทางแม่ค้าขายลูกชิ้นทอด” แม้เป็นอาชีพไม่หรูหรามีหน้ามีตาแต่รายได้พออยู่พอกินมีเงินสดหมุนทุกวัน “ไม่ต้องแข่งขันกับใคร” ฉะนั้นเป็นไปได้ยากจะหวนกลับไปวงการไกด์นำเที่ยวอีก

นี่คือคำตอบสุดท้ายจาก “ผู้เคยเผชิญมรสุมชีวิต” แต่ไม่ย่อท้อต่อวิกฤติค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนอาชีพจนเจอเส้นทางชีวิตใหม่ สามารถผ่านช่วงเลวร้ายมาได้ แล้วอีกไม่นานเราทุกคนจะผ่านไปด้วยกัน.