หลายศัพท์ในหนังสือ “ศัพท์สรรพรรณนา” (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ก.พ.2565) ที่อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ เขียน ผมอ่านแล้ว ตอนแรกก็เข้าใจว่า นี่คือ “ครู” ผู้ลุ่มลึกในเชิงภาษาสำนวนไทย ...ท่านหนึ่ง
แต่อ่านๆไป...บางศัพท์อย่าง “เสบียงกรัง” นี่เป็นตำราวิชาทำอาหาร...หรือเป็นเรื่องความรัก ความผูกพัน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย บ้านคนสุพรรณ ที่จบได้นุ่มซึ้ง สะเทือนใจ
ผมจะลองคัดย่อเรื่องให้อ่าน แล้วค่อยๆมาช่วยกันนิยามงานเขียนอาจารย์ปรัชญา...เป็นแบบใด
เสบียงกรัง อาหารแห้งที่เก็บไว้กินได้นานๆ หรือเอาติดตัวไปกินระหว่างเดินทางไกล
มหาชาติกลอนเทศน์ กัณฑ์ชูชก สำนวนพระเทพมุนี (ด้วง) วัดสังกัจจายน์ พรรณนาไว้ดังนี้
“ทั้งขนมแข็งเป็นก้อนกัด งาตัดข้าวตอกคั่วถั่วงาแลแดกงา ขนมรำเรเร่ฉ่ำ ทั้งขนมเทียนทำทั่วทุกสิ่ง อีกทั้งขนมผิงหินฝนทอง...ใส่น้ำผึ้งน้ำตาลเติมน้ำอ้อยเหลว กระทำให้เร็วๆล้วนแต่หลากๆ ทั้งข้าวตูข้าวตากแต่งให้ต่างๆเป็นของข้ามคืนค้างเครื่องเสบียงกรัง...”
หนทางที่ยาวไกลกับเวลาเนิ่นนานข้ามเดือนปีเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดนั้น อาหารแห้งที่แม่และเมียบรรจงห่อมาให้ คงช่วยผ่อนคลายความว้าเหว่อ้างว้างของเขาและเขาผู้ห่างบ้านให้เบาบางลงได้ไม่น้อย
แม่ผมเป็นผู้หญิงใจเด็ดเดี่ยวจากบ้านคนเดียว มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯตอนอายุ 16 ปี...แม่อารมณ์ครื้นเครงมักแอบคุยให้ลูกๆฟังว่า แม่เข้มแข็งและเรียนเก่ง (กว่าพ่อ) “คิดถึงบ้านก็คิดถึง แต่แม่ไม่มีน้ำตาสักหยด”
“เรื่องนี้แม่เล่าแล้ว” ผมเคยบอก “เหรอ...” แม่ยิ้มเขิน แต่แล้วก็เล่าต่อไปเหมือนไม่เคยเอ่ยถึงมาก่อน
เรื่องหนึ่งที่แม่เล่า คือ ก่อนเปิดเทอมทุกครั้ง ยายจะทำของอร่อยจากสุพรรณฯเป็นเสบียงกรังให้แม่นำติดตัวไปกินที่กรุงเทพฯ ของอร่อยนั้นคือ น้ำพริกผัดและมะพร้าวแก้ว
...
น้ำพริกผัดสูตรของยายมีเครื่องปรุงคือ พริกแห้ง หอมแดงปอกเปลือก กระเทียมปอกติดเปลือก กะปิ น้ำปลา มะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ เกลือสมุทร และหมูสับละเอียด
ตำพริกก่อน ใช้ไฟกลางคั่วพริกแห้งหอมแดงกระเทียมพอสุก พักให้เย็นแล้วตำจนละเอียด
ใส่มะขามเปียกเอาเม็ดและใยออกแล้วสับ ให้ตำง่าย น้ำปลา น้ำตาล และเกลือลงไปตำต่อ ปรุงรสตามชอบ
แต่ของยายและแม่ต้องให้หวานเผ็ด เปรี้ยวนวลลิ้นคลอๆกัน “อย่าให้เค็มนัก” แม่ย้ำ
มะพร้าวแก้ว...อาจารย์ปรัชญาคุยถึงรสชาติ “แม่ว่ากินหลังข้าวหรือแอบกินตอนเปิดไฟเตรียมนอนอร่อยนัก”
น้ำพริกผัดและมะพร้าวแก้วอันเป็นสิ่งแทนความรักความห่วงใยของตาและยาย ติดตามแม่ไปทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ครั้งยังเรียนหนังสือจนถึงวัยทำงาน
และเมื่อแม่มีลูก แม่เองก็ฝากความรักยิ่งใหญ่มากับอาหารที่แม่ทำ ด้วยหัวใจเช่นกัน
เมษาหนึ่งอากาศร้อนจัด ตาได้มะพร้าวอ่อนมาหลายลูก จึงจัดแจงให้แม่เอาติดไปกินด้วย ตากลัวว่าที่กรุงเทพฯจะหามีดใหญ่ไม่ได้ จึงปอกเปลือกจนชิดกะลาพอให้ไม่แตกระหว่างทาง
แต่ตรงหัวซึ่งมีตามะพร้าวอยู่ ตาคงฝานหนักมือไปหน่อย
บนรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-ท่าช้าง แม่วางสัมภาระไว้บนชั้นตะแกรงเหนือที่นั่งเช่นเคย
รถวิ่งโยกคลอนไปกับอากาศที่ร้อนแสนร้อนสักระยะ ก็เกิดเสียงเอะอะอื้ออึงดังขึ้นที่หลังเบาะแม่
เสียงนั้นจับความได้ว่ามะพร้าวเจ้ากรรมของใครสักคน เจออากาศร้อนจัดจึงดันน้ำพุ่งทะลุรอยปริแตกที่หัวลงมา เปียกเนื้อตัวคนข้างล่างจนเหนียวเหนอะหนะ “แล้วแม่ทำไง” ผมถาม “จะทำไง” แม่ตีหน้าตาย
“ก็เงียบไว้สิ กระโตกกระตากออกไปเขาจะได้รู้สิว่ามะพร้าวเรา”
เรื่องเสบียงกรัง...จบแบบนี้แหละครับ ผมถึงได้ไม่แน่ใจ นี่เป็นงานความรู้ทางวิชาการ หรือนี่คือการจบของเรื่องสั้นขั้นดี.
กิเลน ประลองเชิง