ปีนี้ยิ่งน่ากังวลสถานการณ์ “เกษตรกรไทย” ต้องเผชิญปัญหาความท้าทายราคาต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ และน้ำมันดีเซลใช้สำหรับเครื่องจักรการเกษตรแพงขึ้นทุกปี

ยิ่งกว่านั้นกลับ “สวนทางราคาขายสินค้าเกษตรตกต่ำลง” ทำให้ผลกำไรลดลงติดลบ หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นว่า “เกษตรกรไทย” ยิ่งทำการเกษตรเพาะปลูกพืชผลมากเท่าใดก็ยิ่งจนลงหนักมากขึ้นเท่านั้น

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร บอกว่า ปีนี้ภาคเกษตรไทยเผชิญความท้าทายทั้งโรคระบาด การแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะต้นทุนผลิตปรับตัวจากปัจจัยสงครามยูเครน-รัสเซีย ดันราคาปุ๋ยสูงขึ้น

เมื่อเทียบกันในช่วง มี.ค.2564- มี.ค.2565 ราคาปุ๋ยดีดตัวขึ้นมาก อย่างปุ๋ยสูตร 21-0-0 ปรับขึ้น 148% ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ปรับขึ้น 154% ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปรับ 55% เห็นได้ว่า ราคาปุ๋ยแพงกว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าด้วยซ้ำ ดังนั้นสินค้าการเกษตรภาพรวมดูเหมือนราคาดีมีรายได้งาม แต่ถ้าหักลบกลบหนี้แล้วแทบไม่เหลือผลกำไรอะไรเลย

...

เรื่องนี้สอดรับกับ “หนี้สินครัวเรือนเกษตรไทย” มีตัวเลขสูงขึ้นเป็นนิวไฮเฉลี่ยอยู่ที่ 90.2 นั้นหมายความว่า “สินค้าการเกษตรผลิตออกขาย 100 บาท ต้องมีหนี้สิน 90 บาท” กลายเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สูงขึ้นอยู่ตลอด อันเป็นสถานการณ์เปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยหลักก็มาจาก “ต้นทุนการผลิตสินค้าการเกษตรแพงขึ้น” เป็นปัญหาซ้ำเติมให้ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้เพิ่มพูนสูงกว่าเดิมจนไม่นานมานี้ “ประเทศไทย” ถูกจัดอันดับมีหนี้สินครัวเรือนมากติดต้นๆของโลก

ถัดมา “ความท้าทายต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” ปัจจุบันในหลายประเทศเริ่มนำมาช่วยทำการเกษตรในการตรวจสอบ วิเคราะห์สภาพอากาศ ศัตรูพืช และวัดอุณหภูมิดินกันแพร่หลายยิ่งขึ้น แต่ในส่วน “เกษตรกรไทย” มีใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรราว 40% ถ้าดูผิวเผินตัวเลขสัดส่วนค่อนข้างเยอะ

หากเจาะลงดู “สัดส่วนการใช้งานยังมีคุณภาพต่ำไม่เต็มประสิทธิภาพ” ส่วนใหญ่มักนำมาใช้ตรวจสอบสภาพอากาศเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว “เทคโนโลยีเกษตรสามารถใช้ประโยชน์” เพื่อทำการเกษตรได้หลายประการ ทั้งการตรวจจับแมลงศัตรูพืช การตรวจโรค การให้ปุ๋ยให้น้ำ และวิเคราะห์ค่าดินก็ได้ด้วย

โดยเฉพาะ “เกษตรแม่นยำ” ที่ปรากฏพบว่า “เกษตรกรไทยปรับใช้เพียง 6%” อันเป็นอัตราส่วนค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กันแพร่หลาย ผลตามมาคือ “พืชผลการเกษตรไทยมีต้นทุนผลิตสูง” แล้วขีดความสามารถต่อการแข่งขันก็สู้ประเทศที่มีการใช้เกษตรแม่นยำไม่ได้

“ก่อนอื่นนโยบายภาครัฐต้องเร่งรัดผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงระบบเกษตรแม่นยำที่ยังเจอปัญหาอุปสรรคในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น อินเตอร์เน็ต จำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทยโดยเร็ว แล้วควรต้องมีแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรที่ดีให้ได้ใช้งานกันด้วย” รศ.ดร.วิษณุ ว่า

ย้ำในยุคนี้ “รูปแบบการรดน้ำพืชผักผลไม้” ยังเป็นตามเวลาประจำวัน “แม้บางครั้งช่วงนั้นฝนตกชุกยังรดน้ำเช่นเดิม” แล้วการใส่ปุ๋ยก็ยังต้องใช้แรงงานคนมักใส่ในปริมาณมากเกินความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ “เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ” มีความสำคัญจำเป็นมากเช่น “อินเตอร์เน็ตออฟติงส์” ถูกนำมาใช้รดน้ำอัตโนมัติ

...

ด้วยการติดตั้งฝังเซ็นเซอร์ใต้ดินวัดความชื้น และเมื่อใดก็ตามระดับความชื้นของดินต่ำลง “ระบบนี้ก็จะสั่งรดน้ำอัตโนมัติให้น้ำตามความต้องการของพืชได้ดี” ผลดีคือต้นทุนการผลิตลดลง เพราะสามารถควบคุมการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงได้ในปริมาณและเวลาที่ถูกต้องสม่ำเสมอ ทำให้ความสมบูรณ์ผลผลิตมีระดับเดียวกัน

อันเป็นหลัก “การบริหารจัดการการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ” แล้วเกษตรกรก็ปลอดภัยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมี แต่ก็มีข้อจำกัด “เกษตรกรไทยขาดองค์ความรู้ และการยอมรับในเทคโนโลยี” ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรดั้งเดิมมาเป็นเกษตรแม่นยำนี้

อธิบายแบบนี้ ปัจจุบัน “คนทำเกษตรมักเป็นผู้สูงวัย การศึกษาไม่สูงนัก” กลายเป็นปัญหาไม่อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะด้วยคนหนุ่มสาวมักออกนอกภาคการเกษตรไหลไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว แล้วอนาคตอันใกล้นี้ อัตราคนสูงวัยทำการเกษตรจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก

ฉะนั้นตรงนี้ “ภาครัฐและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกัน” แล้วส่งเสริมเพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกรรุ่นเก่านี้กล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง

หันมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำเกษตรมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ต้องปรับตัวสู่เกษตรในอนาคต มิเช่นนั้นอาจถูกกลืนจนสูญเสียขีดความสามารถต่อการแข่งขันก็ได้

ประเด็นถัดมา “ความท้าทายเรื่องสภาพภูมิอากาศแปรปรวน” แต่ถ้าดูสภาพอากาศในปีนี้ โชคดี “ลานีญามาแปลกแรงไม่ตกยืดเยื้อสู่ปีที่ 3” อันเป็นปรากฏการณ์สำคัญ มักพบเห็นได้น้อยมากเพียง 2 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2493 มาจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วระดับความรุนแรงเดือน มี.ค.จัดเป็นอันดับ 6 จึงถือว่าเป็นเรื่องแปลกไม่ปกติมากๆ

...

ลักษณะนี้ทำให้ “ฤดูฝนมาเร็ว” ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ “ชุ่มฉ่ำเกือบทุกภูมิภาค” แล้ว ในช่วง มิ.ย.-ส.ค.บางพื้นที่ของอีสานตอนล่างใต้ตอนบน ตะวันตก และเหนือตอนล่างปริมาณจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ถ้าปีนี้เจอภัยแล้งก็จะเป็นแบบอ่อนๆ สิ่งที่น่าห่วงคือ “น้ำท่วม” เกษตรกรควรพร้อมเตรียมรับมือด้วย

ทว่าเรื่องนี้วางใจไม่ได้ด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น” คาดว่าในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. “ลานีญาอ่อนกำลัง” แล้วโอกาสเกิด “เอลนีโญ” ทำให้ร้อนกลายเป็น “แล้งกลางฤดูฝน” ก็เป็นไปได้อันจะมีผลต่อ “เกษตรกรไทยกว่า 74%” ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก

หนำซ้ำ “เกษตรกรไทยมักปลูกข้าวกว่า 50%” อันเป็นพืชกินน้ำเยอะมากกว่าพืชอื่น ทำให้ใช้น้ำสิ้นเปลืองไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งกว่านั้น “การปลูกข้าวยังมีมูลค่าราคาต่ำสร้างรายได้น้อย” ฉะนั้นอนาคตพื้นที่ใกล้ชลประทานควรปลูกข้าวน้อยลง หันไปสู่การเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง ลดความเสี่ยงขาดทุนจะดีกว่า

สิ่งนี้ก็เป็นไปได้ยากด้วย “นโยบายภาครัฐ” มักจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้เพาะปลูกข้าวได้รับความเสียหายหรือราคาข้าวตกต่ำ กลายเป็นไม่มี

ความเสี่ยงใดๆ ส่วนเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นเกิดความเสียหายกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วยซ้ำ ทำให้เกษตรกรไม่ยอมปรับตัวยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพอยู่ทุกวันนี้

อย่าลืมว่า “การจ่ายเงินให้เปล่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น” ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ในแต่ละปีสามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นได้มากมายแต่ว่า “รัฐบาล” กลับลงทุนป้องกันความเสียหายภาคการเกษตรอันมีผลกระทบระยะยาวน้อย เช่น ลงทุนวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ย้อนกลับมาถามนโยบายเหล่านี้ทำไมยังเกิดขึ้น...?

...

เพราะผู้บริหาร นักการเมืองอยู่ในตำแหน่งวาระ 4 ปี มักมุ่งเน้นนโยบายเห็นผลเร็วทันตา

ความท้าทายต่อมา “ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้น” ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วทำให้เนื้อสัตว์หลายชนิดปรับตัวตาม และผลักให้ผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะด้วยตอนนี้ “ฟาร์มเลี้ยงสัตว์” มักเป็นของภาคเอกชนเกือบทั้งหมด จนสามารถควบคุมกลไกการผลิตในตลาดได้แล้ว

สาเหตุสำคัญจาก “ภาครัฐออกแบบโครงสร้างการตลาดให้แข่งขันน้อย” กลายเป็นว่า “การตลาดเอนเอียงไปทางผูกขาด” ด้วยบริษัทภาคเอกชนไม่กี่เจ้า

ที่สามารถมีอำนาจในการต่อรองเยอะขึ้นจน “เกษตรกรเสียเปรียบทางการค้า” ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมานี้

ในอนาคต “รัฐบาล” จำเป็นต้องให้ความสำคัญ “ยกระดับการแข่งขันทางการตลาด” เพื่อให้ค่าผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity) เติบโตเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างเวียดนามที่แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วหลายด้าน เพราะด้วย “นโยบายภาครัฐ” เน้นเยียวยาจ่ายเงินจนไม่ก่อให้เกิดการปรับตัวของเกษตรกรนี้

ดังนั้นถ้า “เกษตรกรไทย” ไม่ปรับวิธีทำเกษตรต้องสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขัน แถมยังเกิดความเปราะบางกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแปรปรวนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี.