3 ปีของการก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพิ่งครบรอบไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา

ถึงวันนี้ “ธงแห่งการปฏิรูป” การอุดมศึกษาไทย ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เริ่มผลิดอกออกผล

ที่สำคัญ และเพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด คือ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่จะมีการพังทลายพรมแดนการศึกษาระหว่างสถาบันเกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยการเปิดให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้

แถมมีการคิดค้น “แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ต่างจากมาตรฐานเดิมขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้เท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง

รวมถึงมีการจัดตั้ง “ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่อรับฝากหน่วยกิตของผู้เรียน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่เป็นใครก็ได้เมื่อไปเรียนในหลักสูตรต่างๆ ก็สามารถนำหน่วยกิตมาเก็บสะสมไว้ได้

ที่สำคัญคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมาย ทั้งด้านวิชาการและการพัฒนากำลังคน

...

ตลอดจนมีการจัดทำ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้สิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของผู้รับทุนเองได้

นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เองอีกด้วย เป็นต้น

และนี่คือผลสัมฤทธิ์ของการควบรวมหน่วยงาน ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการฉายภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์บนเวทีแถลงผลงาน “อว.ครบ 3 ปี แห่งความสำเร็จในการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ

“อว.มีผลงานการปฏิรูป อุดมศึกษามาก โดยเฉพาะการจัดทำนวัตกรรมการศึกษา หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เพื่อผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม และเตรียมรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ขณะนี้มีหลักสูตรไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หลักสูตรพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และคอมพิวเตอร์ของ 6 มหาวิทยาลัยได้แก่ ซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง มหิดล ขอนแก่น เชียงใหม่และสงขลาฯ โครงการ Harbour.Space@UTCC ของ ม.หอการค้าไทย โครงการนักฉุกเฉินทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น แซนด์บ็อกซ์ จะเป็นกลไกการจัดการศึกษาที่ต่างจากมาตรฐานเดิม เช่น ให้เรียนจบได้เร็วขึ้น ให้เรียนที่โรงงานได้ ตามความต้องการของเอกชน โดยขณะนี้ อว.กำลังเร่งผลิตวิศวกรพันธุ์ใหม่ 1 หมื่นคน และนักวิทยาศาสตร์ 1 หมื่นคนตาม ความต้องการของนักลงทุนเพื่อให้ไปทำงานที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.กล่าวถึงความสำเร็จของการปฏิรูปการอุดมศึกษาฯ

...

ขณะที่มหาวิทยาลัยก็ได้มีการแบ่งกลุ่มตามความเก่งในด้านของตนเอง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นเลิศด้านการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น โดยมีอาจารย์และนักศึกษาบวกกับความรู้มาร่วมกันพัฒนาเชิงพื้นที่ ส่วนมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคล เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทันที

“ด้านวิทยาศาสตร์มีการดำเนินการพัฒนาเครื่องโทคาแมค หรือดวงอาทิตย์จำลอง ซึ่งจะผลิตนิวเคลียร์ฟิวชัน หรือพลังงานสะอาดให้ประเทศในอนาคต และมีที่ไทยเพียงที่เดียวในอาเชียน และเรากำลังจะมีเครื่องซินโครตรอน เครื่องที่ 2 ระดับพลังงาน 3GeV แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฝีมือนักวิจัยไทย เราพยายามให้คนไทยทำเองให้มาก ไม่ใช่การซื้อของทันสมัยมาใช้จากต่างประเทศ นอกจากนั้น เราจะมีโครงการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ใน 6–7 ปี มีเด็กรุ่นใหม่อายุ 30–40 ปี จากทุกภาคของไทยไปร่วมวิจัย ทำให้คนไทยเห็นว่า คนไทยเก่ง ไม่จมอยู่กับการเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่เราจะเป็นประเทศที่พัฒนาได้เราไม่ได้เก่งแต่ด้านศิลปะ แต่เราเก่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย” รมว.อว.กล่าว

...

นอกจากนี้ อว.ยังจัดตั้ง “ธัชชา” วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสนับสนุน Soft Power ของไทยตามนโยบายของรัฐบาล และที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมคนเก่งของ อว.มาทำหน้าที่เป็นคลังสมองให้กับรัฐบาล และทำงานตอบโจทย์ความ ต้องการของประเทศและภาคเอกชน

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ อว.ทำให้เห็นอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง เป็นครั้งแรกที่เห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านอุดมศึกษาและด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เริ่ม ผลิดอกออกผล ที่สำคัญการปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำพร้อมกับลงไปพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยนำ อว.สู่กระทรวงแห่งการปฏิบัติผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T การจัดตั้ง อว.ส่วนหน้าซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการของ อว.ที่ลงไปทำงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกับทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นต้น

...

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่าผลงาน การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ อว.ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง ทั้งเริ่มเห็นทิศทางที่แจ่มชัดเพราะมีนวัตกรรมการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ใหม่ๆ

สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การรับรู้ทุกข์สุขของประชาชนที่มากกว่านี้ รวมถึงการสร้างและนำผลงานวิจัย ผลงานวิทยาศาสตร์ ผลงานนวัตกรรมลงไปรับใช้ประชาชนส่วนใหญ่ให้มากกว่านี้

เพื่อให้เป็นการปฏิรูปอุดมศึกษา–วิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวอุดมศึกษา