แหล่งข่าวจาก กระทรวงคมนาคม ระบุว่า มีการเจรจาแก้ไขสัญญาการร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ระหว่าง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ตามที่ บอร์ด อีอีซี ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน เรื่องปัญหาค่าสิทธิบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และ การแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ- ดอนเมือง ซึ่งเดิมมีกรอบเวลาจนถึงวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า คณะทำงานขอขยายกรอบเวลาการเจรจาแก้ไขสัญญาออกไปอีก 3 เดือน อ้างว่าได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ด อีอีซีแล้ว

ประเด็นนี้ความคืบหน้่าล่าสุด การจ่ายค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ข้อยุติเบื้องต้น ผู้รับสัมปทาน บริษัท เอราวันจะขอแบ่งจ่ายค่ารับโอนสิทธิ์จากเดิมต้องจ่ายก้อนเดียว 10,671 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2564 มาเป็นขอแบ่งจ่าย 10 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม เห็นชอบ ให้จ่าย 7 งวด งวดละ 10% หรือ 1,067 ล้านบาท ที่เหลือให้จ่ายในงวดสุดท้่ายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกลายเป็นการโยนภาระให้ภาครัฐ

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการเจรจาแก้ไขสัญญาหลักในส่วนของ เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างให้กับบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน ที่เดิมรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ร่วมทุน เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว และเปิดบริการแล้ว ด้วย คือนับจากปีที่ 6 ของสัญญาเป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 10 ปี เฉลี่ยปีละ 14,965 ล้านบาท ขอแก้เป็นให้รัฐจ่ายเงินร่วมทุนเร็วขึ้น ในปีที่ 2-8 หรือจ่ายภายใน 7 ปี เฉลี่ยปีละ 18,922 ล้านบาท เพื่อแลกกับการให้เอกชนรับภาระค่าก่อสร้างโครงการโยธาร่วมสำหรับ โครงการถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองที่มีค่าก่อสร้าง 24,000 ล้านบาท เดิมการรถไฟฯจะต้องจ่ายเอง 9,200 ล้านบาท การแก้สัญญาทั้งสองประเด็นในลักษณะที่ว่า จ่ายในขณะที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จและยังไม่เปิดบริการ และมีการแบ่งจ่ายยืดระยะเวลาให้นานขึ้น เป็นการพลิกสัญญาจากหน้ามือเป็นหลังมือ แสดงให้เห็นถึงการเสียเปรียบของภาครัฐอย่างชัดเจนที่สุด

...

ข้ออ้างที่ว่า ทำให้เอกชนสามารถลดการกู้เงินจากเดิมที่ต้องกู้ถึง 135,500 ล้านบาทเหลือเพียง 78,795 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยไปได้ 27,000 ล้านบาท ทำให้สามารถนำส่วนต่างมาเป็นค่าก่อสร้างโครงการทับซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ประหยัดต้นทุนการก่อสร้าง ทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ กลายเป็นว่ารัฐได้เอื้อประโยชน์เข้าไปช่วยลดภาระของเอกชนไปฉิบ ยังมีเรื่องของ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัทผู้สัมปทาน และจะต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องคาราคาซังจะต้องใช้งบประมาณของการรถไฟฯ เข้าไปแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม กรณีโดยรวมแล้ว การแก้ไขสัญญาดังกล่าวเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์กับภาคเอกชน ทำให้เอกชนลดภาระจากเดิมที่จะต้องกู้ไม่น้อยกว่า 1.35 แสนล้าน เหลือเพียง 7.8 หมื่นล้านเท่านั้นลดลงไปกว่าครึ่ง เนื่องจากได้รับเงินอุดหนุนมาจากรัฐในระหว่างการดำเนินการนั่นเอง ในลักษณะสร้างไป จ่ายไป สิ่งที่รัฐจะต้องรับผิดชอบตามมาก็คือ การถูกฟ้องร้องจากผู้เข้าแข่งขันการประกวดราคาและการเร่งรีบหาเงินมาจ่ายในการร่วมทุนปีละเกือบ 1.5 หมื่นล้าน งานนี้เริ่มต้นที่การชนะการประมูลที่มากกว่าราคากลางอย่างผิดปกติ ยังจะมาแก้สัญญาแบบผิดปกติอีก

กรรมของคนไทยและประเทศไทย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th