"หมอธีระ" เผยการติดเชื้อโรค "โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อ พร้อมมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวในลักษณะของ "ลองโควิด"

วันที่ 5 พ.ค. 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 591,277 คน ตายเพิ่ม 1,888 คน รวมแล้วติดไปรวม 515,202,244 คน เสียชีวิตรวม 6,268,015 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.99 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.47 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 21.78 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 15.73

ส่วนสถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมากตั้งแต่ 1 พ.ค. เพราะหน่วยงานไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19)

ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.6% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 48 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 19 วัน

อัปเดต Long COVID กับผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ทีมงานจาก Department of Cardiology, Kaiser Permanente San Francisco Medical Center สหรัฐอเมริกา ทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Current Atherosclerosis Reports เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา สรุปให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อ และมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเนื่องไประยะยาวในลักษณะของ Long COVID

...

สำหรับภาวะผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เกิดได้มากมายหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว (เป็นได้ทั้งด้านซ้ายและขวา) ลิ่มเลือดอุดตัน (ในปอดหรือในหลอดเลือดดำ) โรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ยังพบว่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการต้องมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเรื่องหัวใจล้มเหลว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน ยืนยันอีกครั้งว่า โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่กระจอก การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

โควิดติดไม่จบแค่หายและตาย แต่ปัญหาระยะยาวคือ Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตต่อทั้งผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม สุดท้ายคนที่รับกรรม ตกกับดัก และได้รับผลกระทบคือตัวคนที่หลงเชื่อ ติดเชื้อ และเผชิญกับ Long COVID ด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครมารับผิดชอบ แม้คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็ควรป้องกันตัวเช่นกัน เพราะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ใส่หน้ากาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง นี่คือหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้เราพอจะใช้ชีวิต ศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน ไปได้อย่างปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่ยังมีความเสี่ยงระดับสูง.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat