• แนวโน้มโควิดไทย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ส่วนผู้เสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยและมีโรคประจำตัว
  • สธ.เปิดแผนการทำโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เล็งทำแซนด์บ็อกซ์นำร่อง ล่าสุดมี 15 จังหวัดเสนอตัว 
  • หมอเตือนอย่าเพิ่งรีบร้อนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยังมีโอกาสกลับมาระบาดใหญ่ได้อีก แนะเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนแตกสายพันธุ์ย่อย แม้ไทยแนวโน้มดีขึ้น

 

เริ่มนับถอยหลังผ่อนมาตรการควบคุมโควิด-19 หลัง ศบค.ชุดใหญ่ ปรับแผนใหม่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ กวักเม็ดเงินเข้าประเทศ ทั้งการเดินทางเข้าประเทศ และการนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ขณะที่ภาพรวมภายในประเทศ ล่าสุดตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดต่ำลง แต่ยอดเสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่อีกด้าน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประเมินจากสถานการณ์ เตรียมเปิดแผนเปลี่ยนโควิดฯ เป็น "โรคประจำถิ่น" 1 ก.ค.นี้ ล่าสุดมีหลายจังหวัดมีความพร้อมและเสนอตัว "นำร่อง" แล้ว โดยกำหนดต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ด้านหมอออกมาเตือน รบ.อย่าเพิ่งรีบร้อนปรับเป็นโรคประจำถิ่น เพราะยังมีโอกาสกลับมาระบาดใหญ่ได้อีกและยังต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ "โอมิครอน" แตกสายพันธุ์ย่อยอีก แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อภายในประเทศจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตยังพุ่งสูงไม่หยุด โดยเฉพาะ "กลุ่มผู้สูงวัย-มีโรคประจำตัว" !!!

จ่อปรับโควิดฯ เป็นโรคประจำถิ่น ตามแผนเดิม
จ่อปรับโควิดฯ เป็นโรคประจำถิ่น ตามแผนเดิม

...

"15 จังหวัด" นำร่องโรคประจำถิ่น

นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับแผนการทำโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ขณะนี้มี 15 จังหวัดที่สนใจและมีความพร้อมเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ กรมควบคุมโรคได้ทำหลักเกณฑ์เสร็จแล้ว แต่ต้องหารือกันในที่ประชุม EOC ของกระทรวงก่อน ยกตัวอย่างภาคใต้จะมี จ.สงขลา ที่มีความพร้อมเพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครอบคลุมเกือบร้อยละ 80 และเข็มกระตุ้นอีกเกือบร้อยละ 30 การกำหนดพื้นที่จังหวัดแซนด์บ็อกซ์นั้น เป็นการดึงความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่ก็อยากทำมาหากิน เปิดการค้า กลับมาใช้ชีวิตได้

กำหนด 4 ข้อสู่การปลดล็อกเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นนั้น จะดูจากหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • 1. จำนวนผู้ติดเชื้อต่อแสนประชากร
  • 2. จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและการรองรับในแต่ละจังหวัด
  • 3. อัตราการเสียชีวิตต้องต่ำกว่าร้อยละ 0.1
  • 4. ฉีดวัคซีนจะต้องครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

"หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงขึ้น คาดว่าวันที่ 1 ก.ค. 2565 จะสามารถทำได้ตามแผนโรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง จะต้องมากกว่าร้อยละ 60 การฉีดวัคซีน สำหรับนักเรียนที่เริ่มฉีดเข็มแรกไปช่วงเดือน ส.ค. 2565 ขณะนี้ต้องฉีดเข็มกระตุ้นก่อนเปิดเทอม และกลุ่มเด็กเล็ก 5-11 ปี ที่ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมแล้วประมาณร้อยละ 50 ก็ต้องฉีดเข็ม 2 ตามมาด้วย"

ปรับโรคประจำถิ่นเป็นไปตามแผน

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สธ.วางแผนดำเนินการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น นำร่อง 15 จังหวัด ว่า จังหวัดที่สนใจเข้าร่วมนำร่องเป็นโรคประจำถิ่นเป็นตามนโยบายที่เราตั้งเป้าไว้ แต่จะเกิดเมื่อไหร่และวันไหนไม่สำคัญเท่ากับการบริหารสถานการณ์ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้เราก็เหมือนเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นอยู่แล้ว จากการที่เรามียา สถานพยาบาล และบุคลากรแพทย์พร้อม ไทยโชคดีกว่าประเทศอื่นที่เรามี อสม.กว่าล้านคนเข้ามาช่วย ซึ่งก็เหมือนเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นทุกวันเพียงแต่เราต้องขยายขอบข่าย ซึ่งวันที่ 1 พ.ค. 2565 เรายกเลิก Test and Go ขอให้ตรวจเพียง ATK 1 ครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้นเราก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามข้อมูลผู้ป่วยหนักของไทยก็ลดลง จำนวนเตียงยังมีมากพอสมควร ขณะเดียวกันผู้เสียชีวิตคาดว่ามีแนวโน้มลดลงด้วย ซึ่งจะมีแยกข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิดด้วย คำว่าโรคประจำถิ่นไม่มีกฎเกณฑ์อะไร อยู่ที่พฤติกรรม ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วให้มารับเข็ม 4 เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ที่รับเข็ม 4 ติดเชื้อเสียชีวิต ถ้าไม่ได้เป็นโรคอื่น ทั้งนี้ วัคซีนโควิดต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในทุกแพลตฟอร์ม

ยังต้องเฝ้าระวังโอมิครอน
ยังต้องเฝ้าระวังโอมิครอน

...

ยังต้องเฝ้าระวัง "โอมิครอน" เพราะกลายพันธุ์เยอะ

ส่วนสถานการณ์โควิดขณะนี้นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ชี้แจงว่า โลกน่าจะเคลื่อนเข้าสู่ปลายทางของการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งข้อมูลองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา อัปเดตถึงสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลกเหลือเพียงเดลตาและโอมิครอน แต่เดลตาขณะนี้กำลังถูกทดแทนด้วยโอมิครอนในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย นอกจากนี้ โอมิครอนยังมีสายพันธุย่อยต่างๆ ทั้ง BA.1 BA.2 BA.3 BA.4 และ BA.5 รวมทั้งสายพันธุ์ลูกผสมตระกูล X ซึ่งมีตั้งแต่ XE-XL ที่ต้องจับตา เพราะจุดกลายพันธุ์บ่งบอกกระจายเพิ่มจาก BA.2 อีกร้อยละ 10 แต่ความรุนแรงโรคไม่ได้รุนแรงขึ้น

หนุนเร่งฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ตามเป้า-ลดตาย 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิดฯ โลก ล่าสุดจำนวนการเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสถิติต่ำสุดตั้งแต่มีการระบาด ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เสียชีวิตลดลงเกิดจาก 2 ปัจจัย จากสายพันธุ์และการฉีดวัคซีนที่ป้องกันความรุนแรงโรคและการเสียชีวิต สิ่งที่จะย้ำคือมาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่พอต้องมีมาตรการอย่างอื่นด้วย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสำคัญ ต้องตั้งเป้าหมายให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพราะประเทศที่คุมได้ดีจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเกินร้อยละ 50 ประเทศไทยติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตยังเลข 3 หลัก ฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 132 ล้านโดสจากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นร้อยละ 36.6 ยังห่างไกลจากร้อยละ 50 จึงต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้นหากต้องการให้ตัวเลขเสียชีวิตเหลือ 2 หลัก อย่างไรก็ตาม 3-4 วันที่ผ่านมา เริ่มเห็นตัวเลขไม่ค่อยขึ้นในผู้ป่วยปอดอักเสบ หากนิ่งแบบนี้เรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เราจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตลดลง

...

ย้ำเป็นโรคประจำถิ่นก็ตายได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า โอมิครอนมีคุณลักษณะแพร่กระจายเร็วแต่ไม่รุนแรง จึงทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่า น่าจะถึงเส้นที่โควิดจะเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น นิยามกว้างๆ ของโรคประจำท้องถิ่นเป็นโรคที่พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ อาจมีการระบาดมากบ้างเป็นครั้งคราว แต่มักไม่เกินระดับที่คาดหมาย โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการหรือวิธีการควบคุม ที่สำคัญที่ต้องย้ำคือโรคประจำถิ่นยังมีอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างโรคมาลาเรียหรือไข้ป่า จนถึงตอนนี้ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 4 แสนราย หรือโรคเริม เป็นการติดเชื้อ Herpes อาจพบได้มากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ แต่เพียงมีอาการไม่มาก

โควิดฯยังน่ากลัว ปรับเป็นโรคประจำถิ่นก็ตายได้
โควิดฯยังน่ากลัว ปรับเป็นโรคประจำถิ่นก็ตายได้

โควิดยังมีโอกาสกลับมาระบาดใหญ่ ย้ำเข้มมาตรการป้องกัน

...

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์เวลานี้การติดเชื้อโควิดยังไม่เข้าข่ายของโรคประจำท้องถิ่น และยังมีโอกาสแม้จะดูไม่มากที่กลับมาเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก จึงยังไม่อยากให้ประมาทที่สำคัญนิยามโรคประจำท้องถิ่นก็ไม่ได้เหมือนกันหมด การป้องกันโควิดวิธีดีที่สุดเวลานี้คือการฉีดวัคซีน ซึ่ง 2 เข็มหลักไม่พอ ต้องมีเข็มกระตุ้นและคู่ขนานกับการใส่หน้ากากอนามัย โดยโควิดเมื่อมีการกลายพันธุ์ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลง ยิ่งเจอโอมิครอน ดังนั้น มาตรการการป้องกันตัวเอง การใส่หน้ากากอนามัยจึงสำคัญ รวมทั้งการตรวจ ATK เมื่อจำเป็น รวมถึงสมดุลการรักษาโควิดโอมิครอนตอนนี้ไม่เน้นการรักษาใน รพ.เพราะอาการไม่รุนแรง เพื่อให้เตียง รพ.ว่างดูแลคนที่เป็นโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โควิด แต่กลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงหรือมีอาการมากยังจำเป็นต้องรักษาใน รพ. จากการติดตามข้อมูล 6-8 สัปดาห์ แต่ละวันที่มีคนเสียชีวิตพบว่าประมาณร้อยละ 50-60 ไม่ได้ฉีดวัคซีน ไทยยังมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 2 ล้านคน และร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 คน คือคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม และเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว และไม่กลับมาฉีดเข็มกระตุ้น ร้อยละ 10 ฉีดไปแล้ว 1 เข็มแต่ไม่ฉีดต่อ รวม 3 ตัวเลขนี้เกือบร้อยละ 90 เป็นกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไม่สมบูรณ์จึงมีความเสี่ยง

"WHO" เตือนยังไม่ถึงเวลาเป็นโรคประจำถิ่น 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงการที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละประเทศเกิดไม่พร้อมกัน เพราะปัจจัยแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทั้งปัจจัยวัคซีน อุปกรณ์ครุภัณฑ์ การรักษาพยาบาล แต่ละประเทศจะประกาศไม่พร้อมกัน ภายใต้นิยามไม่เหมือนกัน และเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนอย่างเป็นทางการว่า โควิดยังไม่ได้เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำท้องถิ่น แม้มีแนวโน้มแต่ยังไม่ถึง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ และในบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ จึงอย่าด่วนตัดสินจนละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันมา 2 ปี

หวั่นโรงเรียนเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
หวั่นโรงเรียนเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ห่วงเด็กติดโควิดเตือนระวังโรงเรียนเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โรงเรียนเป็นอีกแหล่งแพร่ระบาด เพราะเด็กเป็นวัยที่ควบคุมการรักษาระยะห่างยาก เป็นธรรมชาติเด็กที่มีความสนุกสนาน ข้อมูลที่ทราบเด็กยังฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่ถึงครึ่ง เข็มสองยิ่งห่างไกล ผู้ปกครองยังกังวลฉีด มีข้อมูลรายงานพบเด็กที่ติดโควิดจะเกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆในร่างกายได้มากกว่าไม่ฉีด ขณะที่วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย แม้ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ภาวะฉุกเฉินแต่ก็มีความปลอดภัย ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีการรับรองวัคซีนที่ใช้ในเด็ก 5 ปีขึ้นไป คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา การฉีดวัคซีนให้กับเด็กน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการเปิดเทอม

"โอมิครอน" ทำยอดเด็กเสียชีวิตพุ่ง

"โอมิครอน" ทำยอดตายเด็กพุ่ง

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า โควิดในเด็กความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรงในเด็กมักจะเป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 5 ปี หลังการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่ต้นมกราคมเป็นต้นมา ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงสาธารณสุข มีเด็กเสียชีวิต 51 ราย พบว่า 39 ราย อายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนอายุ 5 ปีขึ้นไป มีเพียง 12 ราย ในจำนวนนี้เด็กปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวและเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก (ถึงแม้จะน้อยกว่าเด็กที่มีโรคประจำตัว ที่รายงานเบื้องต้น ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 29 ราย มีโรคประจำตัว 19 ราย เป็นเด็กที่แข็งแรงดี 10 ราย)

เด็กโตดับเพราะมีโรคประจำตัว

ศ.นพ.ยง ระบุต่อว่า ในเด็กโตที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีโรคประจำตัว เมื่อดูอัตราการป่วยตายจะพบว่าในเด็กอายุเกิน 5 ปี อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ 1 ในหมื่นที่ป่วยเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กเล็ก 0-4 ปี อัตราการป่วยตาย ในเด็กปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว จะอยู่ที่ 3 ในหมื่นรายและเด็กที่มีโรคประจำตัวจะอยู่ที่ 5 ในหมื่นราย ที่เป็นโควิด-19 ถึงแม้ดูตัวเลขที่ป่วยและเสียชีวิตในเด็กจะมีจำนวนน้อย แต่ถ้าเป็นเด็กปกติแล้วเสียชีวิต โดยทั่วไปจะไม่เป็นที่ยอมรับ ยกตัวอย่างเช่นไข้เลือดออก อัตราการป่วยตายไม่ได้มากเหมือนโควิด-19 ในเด็ก แต่เด็กที่เสียชีวิตจะเป็นเด็กที่แข็งแรงดีมาก่อนเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยทั่วไปจึงไม่เป็นที่ยอมรับและทำใจไม่ได้

วอนผู้ใหญ่ให้ความสำคัญชีวิตเด็ก

ศ.นพ.ยงระบุด้วยว่า โควิด-19 ในเด็กถ้ามองดู จากสถิติ จะเห็นความสำคัญของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างมาก มีเด็กปกติแข็งแรงดี ต้องเสียชีวิต จากโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีวัคซีนที่ให้ในเด็กกลุ่มนี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง วัคซีนในหลายประเทศมีการฉีดให้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีความปลอดภัยและมีการเผยแพร่ในวารสาร Lancet การตัดสินใจจะเอาวัคซีนมาใช้ในเด็ก 3-5 ปี ในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน เด็กถึงแม้ว่าจะติดเชื้อโควิด มีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่ความสำคัญมีมากกว่า เพราะถ้าเกิดในเด็กปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับ ทำใจไม่ได้อย่างแน่นอน เราให้ความสำคัญกับชีวิตของเด็ก ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันปกป้องชีวิตอันน่ารักของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟิก : Anon Chantanant