สธ.เปิดแผนการทำโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น 1 ก.ค.นี้ เล็งทำแซนด์บ็อกซ์นำร่อง ล่าสุดมี 15 จังหวัดเสนอตัวและมีความพร้อม โดยกำหนดต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ จำนวนผู้ติดเชื้อต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและการรองรับ อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าร้อยละ 0.1 และการฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ลดต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันไม่ลด เป็นเลขสามหลักต่อเนื่อง ด้านหมอคนดังเตือน ยิ่งมีคนติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โอกาสเจอผู้ป่วยภาวะผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกายหลังหายป่วย หรือ Long Covid ยิ่งพุ่ง ผู้หญิงเสี่ยงเป็นมากกว่าชาย และส่อเป็นปัญหาระยะยาวกระทบทั้งสังคม
นับถอยหลังอีกไม่กี่วันไทยจะเริ่มใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ปรับใหม่ทั้งการเดินทางเข้าประเทศ การนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิดในประเทศก็ยังสูง
...
ติดเชื้อยืนยันต่ำ 2 หมื่นคน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,784 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17,666 คน มาจากเรือนจำ 40 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 78 คน ขณะที่ตรวจด้วย ATK มี 14,937 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 22,846 คน อยู่ระหว่างรักษา 183,154 คน อาการหนัก 1,929 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 899 คน ทั้งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 63 รวม 4,165,874 คน ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 3,954,945 คน
ตายไม่ลดทะลุ 126 ศพ
ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังทะลุเกินร้อยศพต่อเนื่องอีกวัน โดยเพิ่มขึ้น 126 คน อายุ 1-99 ปี เป็นชาย 65 คน หญิง 61 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง รวมร้อยละ 97 แบ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 92 คน คิดเป็นร้อยละ 73 และมีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 30 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ขณะที่เมื่อแยกเป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุดถึง 35 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในระลอกปี 2565 พุ่งทะลุ 6,077 คน ส่วนมียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 27,775 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มเติมของวันที่ 23 เม.ย.2565 รวม 284,911 โดส ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 รวมทั้งสิ้น 132,564,621 โดส
กทม.ป่วยวันละ 3 พันคน
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 24 เม.ย. พบที่ กทม. 3,200 คน ขอนแก่น 767 คน สมุทรปราการ 686 คน ชลบุรี 608 คน นนทบุรี 510 คน นครปฐม 476 คน บุรีรัมย์ 447 คน ศรีสะเกษ 443 คน นครราชสีมา 431 คน และร้อยเอ็ด 404 คน ขณะที่ 10 อันดับแรกจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาในโรงพยาบาล กทม.ยังอยู่อันดับ 1 ที่ 186 คน ตามด้วย สมุทรปราการ 76 คน นครราชสีมา 75 คน กาญจนบุรี 73 คน สุพรรณบุรี 69 คน ขอนแก่น 63 คน อุดรธานี 58 คน ชลบุรี 54 คน อุบลราชธานี 52 คน และนนทบุรี 47 คน
สถานการณ์ใต้เริ่มขาลง
ต่อมา นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีมีความกังวลว่าหลังสงกรานต์จะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ปรากฏว่าจังหวัดภาคใต้ เช่น สงขลา ยะลา ปัตตานี ที่มีการติดเชื้อสูงช่วงก่อนสงกรานต์ เฉลี่ยทั้งเขตฯ 12 วันวันละ 3 พันคน พอหลังสงกรานต์เริ่มเข้าสู่ระยะขาลงเฉลี่ยเหลือวันละ 1,100 คน มีบางจังหวัดที่การติดเชื้อยังสูงอยู่ เช่น พัทลุง การที่ตัวเลขติดเชื้อลดลง ไม่ได้เกิดจากการตรวจน้อยลง เพราะตัวเลขสอดคล้องกับผู้ป่วยครองเตียงในสถานพยาบาล ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ลดลงเช่นกัน จากที่เคยเห็นว่าจังหวัดทางภาคใต้ติด 1 ใน 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุด ตอนนี้อยู่ในลำดับที่ 70 ขึ้นไปแล้ว
15 จังหวัดนำร่องโรคประจำถิ่น
นพ.สุเทพกล่าวว่า สำหรับแผนการทำโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ขณะนี้มี 15 จังหวัดที่สนใจและมีความพร้อมเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ กรมควบคุมโรคได้ทำหลักเกณฑ์เสร็จแล้ว แต่ต้องหารือกันในที่ประชุม EOC ของกระทรวงก่อน ยกตัวอย่างภาคใต้จะมี จ.สงขลา ที่มีความพร้อม เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครอบคลุมเกือบร้อยละ 80 และเข็มกระตุ้นอีกเกือบร้อยละ 30 การกำหนดพื้นที่จังหวัดแซนด์บ็อกซ์เป็นการดึงความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่ก็อยากทำมาหากิน เปิดการค้า กลับมาใช้ชีวิตได้
...
กำหนด 4 ข้อสู่การปลดล็อก
นพ.สุเทพกล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นจะดูจาก 1.จำนวนผู้ติดเชื้อต่อแสนประชากร 2.จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและการรองรับในแต่ละจังหวัด 3.อัตราการเสียชีวิตต้องต่ำกว่าร้อยละ 0.1 และ 4.ฉีดวัคซีนจะต้องครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงขึ้นคาดว่าวันที่ 1 ก.ค.จะสามารถทำได้ตามแผนโรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงจะต้องมากกว่าร้อยละ 60 การฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียนที่เริ่มฉีดเข็มแรกไปช่วงเดือน ส.ค.65 ขณะนี้ต้องฉีดเข็มกระตุ้นก่อนเปิดเทอม และกลุ่มเด็กเล็ก 5-11 ปี ที่ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมแล้วประมาณร้อยละ 50 ก็ต้องฉีดเข็ม 2 ตามมาด้วย
โทร.เข้า 1330 ไม่เยอะ
ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขา ธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น สายด่วน 1330 จึงเตรียมระบบรองรับการรับสายเพิ่มจับคู่ผู้ติดเชื้อกับหน่วยบริการใกล้บ้าน ที่ผ่านมาเคยโทร.เข้าพีกสุดต้นเดือน มี.ค.ถึง 70,300 สาย แต่พบว่าอัตราการโทร.เข้าช่วงก่อนระหว่างและหลังสงกรานต์ ไม่ได้สูงขึ้นเฉลี่ยที่ 11,000-17,000 สาย ประกอบกับมีโครง การ “เจอแจกจบ” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ประชาชนติดเชื้ออาการน้อยสามารถรับยากลับบ้านได้ และ สปสช.จับมือกับร้านขายยาทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง ที่ร่วมกันทำโครงการเจอแจกจบใกล้บ้าน ผลตอบรับดีมาก แต่จะขอดูสถานการณ์ต่ออีก 1 เดือน คือช่วง พ.ค.แล้วจึงประเมินยกเลิกปฏิบัติการ ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ จิตอาสา ความร่วมมือจากทหารที่ตั้งศูนย์รับสายไว้ ส่วนงบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาที่บ้าน (Home Isolation-HI) และชุมชน (Community Isolation-CI) ตั้งแต่ ต.ค.64-มี.ค.65 รวม 767,342 ราย เป็นเงิน 2,566.04 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ร้านขายยาที่เข้าร่วม “เจอแจกจบ” มีการเบิกจ่ายมากับทาง สปสช.แล้ว 1,082 ราย จะมีการทยอยเบิกจ่ายเข้ามาอีก
...
นายกฯสั่งเข้มงวดลดยอดตาย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ย้ำประชาชนและทุกภาคส่วนยังคงต้องเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้น แม้ผู้ติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวที่รักษาที่บ้าน (HI) และชุมชน (CI) และแบบผู้ป่วยนอก “เจอแจกจบ” โดย สธ.ได้ดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการนายกฯที่ให้ความสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุด เน้นการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต และเร่งรณรงค์ให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นด้วย
เตือนป่วย Long COVID พุ่ง
วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ระบาดของไทยว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.จำนวนติดเชื้อใหม่รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ขณะที่จำนวนเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ จำนวนคนเสียชีวิตของไทยคิดเป็นร้อยละ 23.41 ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ภาวะผิดปกติหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า Long COVID หรือ Post-COVID Syndrome จะเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งต่อคนในครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม เกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิดราวร้อยละ 20-40 ถือเป็นตัวเลขที่สูง ยิ่งหากประเทศใดมีคนติดเชื้อมาก โอกาสเจอผู้ป่วยที่เป็น Long COVID ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว
...
หญิงเสี่ยงเป็นมากกว่าชาย
รศ.นพ.ธีระ ระบุด้วยว่า ล่าสุดมีงานวิจัยจาก Taquet M และทีมงาน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Brain, Behavior and Immunity วันที่ 22 เม.ย.65 โดยศึกษาแบบเปรียบเทียบย้อนหลังในประชากรของสหรัฐอเมริกาที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2564 ที่มีประวัติได้รับและไม่ได้รับวัคซีน จำนวนราวกลุ่มละ 10,000 คน พบว่าอัตราการเกิด Long COVID ไม่ได้แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ก็ตาม Long COVID เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต วัยทำงาน และคนสูงอายุ เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ป่วยปานกลางและรุนแรงเสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ แต่ทุกประเภทจะเกิด Long COVID ได้ทั้งสิ้น
ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ
รศ.นพ.ธีระ ระบุอีกว่า Long COVID เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายแทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท มีตั้งแต่ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากหรือสมรรถนะถดถอยลงกว่าปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงระบบอื่น ที่หนักหนาและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ ปัญหาด้านหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ ระบบหายใจมีปัญหา ทำให้เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ระบบต่อมไร้ท่อ จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน ก็ประสบปัญหาคุมโรคได้ยากมากขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ อาการทางระบบอื่นของร่างกาย ได้แก่ อ่อนเพลียอ่อนล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ การป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
“เต๋า-ภูศิลป์” เลื่อนงานเหตุติดโควิด
วันเดียวกัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์แกรมมี่ โกลด์ แจ้งข่าวว่า ศิลปินในสังกัด เต๋า-ภูศิลป์ วารินรักษ์ นักร้องลูกทุ่งหมอลำและนักแสดงหนุ่ม ตรวจ ATK ปรากฏผลตรวจขึ้น 2 ขีด เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เม.ย.ตอนนี้เต๋า-ภูศิลป์ ได้เข้าสู่กระบวนการการรักษาตามการประเมินของแพทย์เรียบร้อยแล้ว ทางสังกัด แกรมมี่ โกลด์ และเต๋า-ภูศิลป์ ต้องขออภัยผู้ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของการเลื่อนกิจกรรมต่างๆออกไปก่อน ขณะที่เจ้าตัวแจ้งผ่านไอจีว่า “เกมแล้วครับ ขออภัยงานต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้รับผลกระทบด้วยนะครับ” โดยมีเพื่อนศิลปินและแฟนๆส่งกำลังใจให้จำนวนมาก
โคราชป่วยตายรวด 6 ศพ
ขณะเดียวกันศูนย์โควิด-19 โคราช รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ใน จ.นครราชสีมา วันที่ 24 เม.ย. ยังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมากถึง 2,627 คน เป็นผู้ป่วยยืนยันจากการตรวจ RT-PCR 272 คน ATK 2,355 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มถึง 6 ศพ โดยเป็นผู้สูงวัยทั้งหมด อายุระหว่าง 70-82 ปี เป็นชาย 4 คน และหญิง 2 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมี 3 คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมในระลอกปี 2565 เขยิบไปอยู่ที่ 156 ศพ
ผู้ดีเตือนรับมือผู้ป่วย Long Covid
ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่า วารสารการแพทย์เดอะแลนเซ็ทของอังกฤษ เผยผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเลสเตอร์อังกฤษ บ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แสดงอาการป่วยในระดับต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 28.9 ที่ร่างกายจะฟื้นตัวเต็มร้อยภายในระยะเวลา 1 ปี นอกเหนือจากนั้นยังคงมีอาการตกค้างต่างๆ (Long Covid) ไม่ว่าเหนื่อยง่าย ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก หรือนอนไม่หลับ งานวิจัยซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยกว่า 2,300 คน ในโรงพยาบาล 39 แห่งของอังกฤษ ระหว่างเดือน มี.ค.2563 ถึง เม.ย.2564 ยังพบหลักฐานด้วยว่า ผู้หญิงมีโอกาสฟื้นตัวน้อยกว่าผู้ชายร้อยละ 33 เปอร์เซ็นต์ คนอ้วนมีโอกาสฟื้นตัวราวร้อยละ 50 ผู้ป่วยที่เคยใช้เครื่องช่วยหายใจมีโอกาสฟื้นตัวเพียงร้อยละ 42 พร้อมเตือนว่าอาการป่วยระยะยาวจากโควิด-19 (Long Covid) กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ จำเป็นที่หน่วยงานสาธารณสุขในประเทศต่างๆต้องเตรียมรับมือ