นิทานเรื่องที่ 28 ในหนังสือ “ปัญจตันตระ” เล่ม “การแตกมิตร” (ศักดา วิมลจันทร์ แปล สำนักพิมพ์พื้นฐาน พ.ศ.2552) ชื่อ “สมบัติสองเกลอ” ชื่อเรื่องไม่ลงลึกบาดใจเท่าเนื้อหา ลองอ่าน

สองเพื่อนรัก คนแรกชื่อสุจริต คนที่สองชื่อทุจริต เป็นลูกพ่อค้า ชักชวนกันไปแสวงโชคเมืองไกล ไม่นานพวกเขาก็เจอโชคใหญ่ เป็นไหบรรจุเงินถึงหนึ่งพันดีนาร์ จึงตกลงกันว่าจะแบ่งเงินกันคนละครึ่ง

กลับถึงบ้านเกิด ทุจริตคิดหาวิธีโกงเพื่อน จึงคุยกับสุจริตว่า แทนที่จะแบ่งเงินกันกลับไปบ้านใครบ้านมัน ทำไมเราไม่เอาเงินไปฝังไว้ในที่ลับตา...แล้วค่อยๆเบิกเงินมาใช้คราวละร้อยดีนาร์
ฟัง “เรื่องมาก” จากเพื่อน สุจริตงง ทุจริตก็บอก นี่เป็นวิธีวัดคุณธรรม...ระหว่างสองเรา สุจริตเอาด้วย

หนึ่งปีผ่านมา ทุจริตใช้เงินหมด ออกปากชวนสุจริตไปขุดเงินที่ฝังเอามาใช้อีกคนละร้อยดีนาร์ไม่นานนัก ทุจริตก็ใช้เงินหมด ชวนเพื่อนไปขุดเงินที่ฝังอีกร้อยดีนาร์ ไม่ช้าทุจริตก็ใช้เงินหมดอีก

คราวนี้ทุจริตจึงตัดสินใจ แอบไปขุดเงินเหลือหกร้อยดีนาร์เอามาใช้คนเดียว เดือนต่อมา ทุจริตตีหน้าซื่อไปชวนสุจริตให้ไปขุดเงินใช้

คราวนี้จึงไม่พบเงินเหลืออยู่เลย สองเพื่อนทะเลาะกันพักใหญ่ ก็ชวนกันไปฟ้องตุลาการตัดสิน ตุลาการเห็นเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่มีพยานหลักฐานอื่น จึงเสนอวิธีพิสูจน์ด้วยการดำน้ำลุยไฟ

ทุจริตเป็นคนหัวหมอ ไม่เอาด้วย เขาบอกตุลาการ หลักของอรรถคดี มีว่า

“หลักฐานชิ้นเอกคือเอกสาร ถัดมาคือพยานผู้พบเห็น ต่อเมื่อขาดพยานการจำเป็น จึงเคี่ยวเข็ญพิสูจน์ความด้วยน้ำ-ไฟ”

อ้างหลักแล้ว ทุจริตก็บอกตุลาการ กรณีนี้ข้าพเจ้ามีพยาน คือเทพารักษ์พิทักษ์ป่า

...

ตุลาการเห็นด้วย นัดวันสืบพยานในวันรุ่งขึ้น

ทุจริตกลับถึงบ้าน ไปขอร้องพ่อให้ช่วยพูดจาสักคำสองคำ แล้วพาพ่อไปซ่อนตัวในโพรงต้นฉำฉาใหญ่ ใกล้จุดที่ฝังเงิน

ได้เวลาตุลาการ และคู่ความไปถึงที่นัดหมาย ทุจริตก็หันไปที่ต้นฉำฉา กล่าวว่า

“โอ้ท่านเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ป่าโปรดบอกเถิดว่า ใครในเราสองคนเป็นขโมย”

“สุจริตเป็นขโมย” เสียงดังจากโพรงไม้ ระหว่างความพิศวง ตุลาการกำลังคิดวิธีลงทัณฑ์...สุจริตก็หอบเศษไม้แห้งไปสุม

ที่ปากโพรงไม้ จุดไฟสุมเข้าไป

ไม่ช้าพ่อของทุจริตก็พุ่งตัวหนีไฟออกมา เนื้อตัวหน้าตาตระหนกตกใจ แต่ก็แค่เฉียดตาย

ประจักษ์หลักฐานชัดเจน ตุลาการตัดสินทันที สั่งจับทุจริตแขวนคอตายบนกิ่งต้นฉำฉานั้นเอง

ส่วนหนุ่มสุจริตผู้เฉลียวฉลาด ตุลาการตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองตำบล ได้รับทั้งบรรดาศักดิ์และทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก

นิทานเรื่องนี้ จบลงด้วยคำกลอน เป็นคำสอนสุดท้าย

“ชื่อว่าบุตรมีสี่อย่างแตกต่างกัน ปราชญ์แบ่งชั้นแจกแจงแถลงไข “สมภพ” หมายละม้ายแม่ดูแน่ใจ “สมชาต” ไซร้เสมอพ่อผู้ก่อกาล บุตรที่สามตามดำริ “อภิชาต” ผู้เปรื่องปราชญ์เกินแม่พ่อต่อพื้นฐาน

บุตรสุดท้าย “ทุรชาต” เป็นธาตุพาล กระทำกาลต่ำเตี้ยเสียตระกูล

หนังสือชุด “ปัญจตันตระ” มีห้าเล่ม นิทานทุกเรื่องมีหลักฐาน เล่ากันมากว่า 2,200 ปี เป็นหลักสูตรเร่งรัดหกเดือน สอนเจ้าชายเจ้านครใหญ่ ที่ขี้เกียจเรียนหนังสือ จบแล้วสามารถมีวิชาปกครองประเทศได้

บรรดาพ่อๆเจ้าสัวหรือแม่ไฮโซทั้งหลาย มักได้ลูกบังเกิดเกล้า น่าจะไปหามาอ่านกันไว้.

กิเลน ประลองเชิง