เทศกาล สงกรานต์ ที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวทุกภูมิภาคทั่วไทย เนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มจะคึกคัก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสัญญาณที่ดี ก็มีเรื่องที่จะต้องเฝ้าระวัง นอกจาก การแพร่ระบาดของโควิด–19 แล้ว เรื่องของ สิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกมิติที่จะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวโดยตรง
ปัจจุบัน ขยะมูลฝอยทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณ 27.40 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน แยกเป็นขยะจากนักท่องเที่ยว 54,573 ตัน โดยขยะบางส่วนไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย กลายเป็นเมืองที่ไม่น่าเที่ยว
เราเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยว ติด 1 ใน 10 ของโลก แต่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม กลับอยู่ในอันดับที่ 130 จากทั้งหมด 140 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยที่มีตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในลำดับต้นๆ กลับถูกเพ่งเล็งถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Demand Side กับ Supply Side กลายเป็นปัญหาในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอนาคต
ยกตัวอย่าง เกาะหมากในจังหวัดตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ มีพื้นที่ขนาด 8,500 ไร่ มีประชากรประมาณ 700 คน ถูกวางให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการขยะท่องเที่ยวอย่างครบวงจร นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy
ในปี 2565 มีการดำเนินนโยบายภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่นำโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ นำต้นแบบ Circular Economy ซึ่งมีการคัดแยกและแปรรูปขยะจากการท่องเที่ยวฯ โดยใช้นวัตกรรมต่างๆที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่ที่เป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย
...
โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. โดยมี นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี เป็นผู้อำนวยการ หัวใจสำคัญของโครงการนี้ มุ่งเน้นด้านการจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีส่วนใดที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า ผลิตภัณฑ์และวัสดุจะถูกเก็บไว้ใช้ซ้ำ ผลิตซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ Upcycling เท่าที่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
อพท. ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดทำองค์ความรู้การจัดการขยะ และถ่ายทอดให้กับชุมชน และภาคีเครือข่ายในเรื่องการคัดแยกขยะที่มาจากการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ปี 2570 ที่จะยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น เกาะหมากเป็นต้นแบบของพื้นที่พิเศษในแผนการพัฒนา 6 แห่ง ชลบุรี สุโขทัย น่าน เลย และสุพรรณบุรี จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่จิตสำนึกของทุกคน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th