น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวว่าบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่งแจ้งว่า ได้ยื่นสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และได้ขอให้องค์การเภสัชกรรมหยุดผลิตหรือนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ชื่อสามัญนั้น ในฐานะที่ทำงานด้านการเข้าถึงยา และสิทธิบัตรยาจึงได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคประชาสังคมรวมกันเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ ตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว และพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีสิทธิบัตร 2 ใบในต่างประเทศ ได้แก่
1.Molnupiravir and analogues (Markush structure) and their use as antivirals
2. Molnupiravir compound and its use as antiviral
แต่สิทธิบัตรทั้ง 2 ใบนี้ไม่ได้ถูกนำมาขอสิทธิบัตรในประเทศไทย โดยบริษัทฯ อ้างว่าได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรที่คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องการขอใช้ยา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบการขอขึ้นทะเบียนตามที่บริษัทฯอ้างไว้ได้ แต่หากเป็นเรื่องการใช้ยานั้น กฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่อนุญาตให้สิทธิบัตรในส่วนนี้ ทั้งนี้ การสั่งซื้อยาจากบริษัทข้ามชาติจะมีราคาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคอร์ส หากองค์การเภสัชฯซื้อยาจากบริษัทในประเทศอินเดีย หรือสามารถผลิตได้เองในประเทศไทยจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 800 บาทต่อคอร์สเท่านั้น
ส่วนนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการบอร์ด สปสช.กล่าวว่า คำขอสิทธิบัตรไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำมาห้าม สั่ง หรือบังคับคนอื่นว่าห้ามผลิต เนื่องด้วยเหตุที่ว่ามีการยื่นคำขอไว้แล้ว ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย ตราบใดที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่ว่าก็จะมีการนำไปขู่บอกว่าขอไปแล้ว ถ้าผลิตขึ้นจะต้องจ่ายค่าเสียหาย เป็นลักษณะคำขู่ แต่ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ในการห้ามคนอื่นทำ.
...