- โควิดไทยยังพุ่ง ทำยอดตายนิวไฮหลายวันติด ล่าสุดเจอเพิ่มเชื้อ "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อยลูกผสม XJ จากชายไทยอาชีพพนักงานเดลิเวอรี
- จับตา "โอมิครอน" ไฮบริด XE แพร่ระบาดเร็ว เฝ้าระวังความรุนแรง เร่งกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่าเพิ่งหวังภูมิคุ้มกันหมู่
- พบข้อมูลโควิดระลอกนี้ "วัยทำงาน" ป่วยเยอะ "เด็กเล็ก" ติดเชื้อ-ตายพุ่ง หวั่นหลังสงกรานต์ยิ่งระบาดหนัก สปสช.จัดสายด่วน แยกกลุ่มผ้ป่วย สบส.เอาผิด รพ.เอกชนแจกยาฟาวิฯ ฟรี
งวดเข้ามาทุกทีสำหรับ "เทศกาลสงกรานต์" ล่าสุดสถานการณ์โควิดฯ ในไทยยังไม่แผ่ว คร่าชีวิตผู้ป่วยรายวันใกล้แตะร้อยศพ ทำยอดนิวไฮหลายวันติดต่อกัน ส่วยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทะลุ 2 หมื่นต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แยกสายพันธุ์ย่อยมาเป็น BA.1 BA.2 และต่อมามีการผสมกันกลายเป็นเชื้อแบบไฮบริด ที่เรียกว่า XE แล้ว 1 ราย และสั่ง "เฝ้าระวัง" เนื่องจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนว่า XE เมื่อเทียบกับ BA.2 ที่ระบาดมากสุดในไทยตอนนี้ สามารถแพร่ได้รวดเร็วกว่า อีกทั้งยังต้องจับตาเรื่อง "ความรุนแรง" และ "การหลบภูมิ" นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่าไทยเจอโอมิครอนไฮบริด "ตัวใหม่" เพิ่มอีก 1 ตัว !!!
...
เจอเพิ่มลูกผสม! พบชายไทยติดโอมิครอนไฮบริด "XJ"
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงโอมิครอนสายพันธุ์ XE ตามที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี รายงานพบในไทย ว่า เป็นการผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.1 กับ BA.2 แต่จริงๆ ที่ผ่านมามีการผสมของ BA.1 กับ BA.2 อยู่หลายตัว มีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกัน เกิดในพื้นที่ต่างกัน คำเรียกขึ้นต้นด้วย X และตามด้วยภาษาอังกฤษตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์มีการถอดรหัสพันธุกรรมสัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่าง พบ 1 รายเป็นพันธุ์ผสม เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมพบว่ามีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ XJ เป็นการผสมสายพันธุ์ย่อยระหว่าง BA.1 กับ BA.2 เช่นกัน เป็นตัวที่พบในประเทศฟินแลนด์ รายที่พบดังกล่าวเป็นชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่งเดลิเวอรี เนื่องจากเจอคนเยอะหลากหลาย มีโอกาสติดเชื้อผสมพันธุ์กันได้ ทั้งนี้มีการตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ใน กทม. ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ขณะนี้หายดีแล้ว
เฝ้าระวัง "XE" แพร่เร็ว-จับตาความรุนแรง
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ทั้ง XE หรือตัวอื่นๆ ยังไม่ได้ถูกยืนยันอย่างเป็นทางการอยู่ระหว่างการส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID และอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วอาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนเพราะอังกฤษวิเคราะห์แล้วว่า XE เทียบ BA.2 สามารถแพร่ได้เร็วกว่าร้อยละ 10 เลยต้องจับตา และอาจจะจับตาเรื่องความรุนแรงและการหลบภูมิ ซึ่งยังต้องรอข้อมูลอีกมาก
ไทยเจอ BA.2 ลามมากสุด แจงโควิดสายพันธุ์ย่อยลูกผสม
ส่วนเรื่องการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดฯ นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจรหัสพันธุกรรมกว่า 2 พันตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 3 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8 ที่เหลือเป็นโอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 99.8 จากนี้แทบจะไม่มีสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่นๆ ในไทยแล้ว และพบสัดส่วนของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 อยู่ที่ร้อยละ 92.2 บางพื้นที่พบร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวิเคราะห์ในผู้เสียชีวิตพบว่า เป็น BA.2 อยู่ที่ร้อยละ 82 ไม่ได้เยอะกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 92 ดังนั้นไม่ได้แสดงว่า BA.2 มีความรุนแรงมากกว่าโอมิครอนธรรมดาแต่อย่างใด ที่ชัดเจนคือในอังกฤษก็มี BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักพบว่าแพร่เร็วชัดเจน ส่วนการหลบภูมิคุ้มกันนั้น ยังมีข้อมูลไม่มากพอว่ารุนแรงมากขึ้น อาจจะหลบภูมิได้มากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
"การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์นั้น หากเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงจะเรียกสายพันธุ์ใหม่ แต่หากพบเปลี่ยนไม่มาก ยังรู้ว่าพ่อแม่เป็นใครจะเรียกเป็นสายพันธุ์ย่อย กรณีการผสม 2 สายพันธุ์ในคนเดียวจะเรียกว่า Mixed inflection แต่หาก 2 สายพันธุ์ผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ มีสารพันธุกรรมจากทั้ง 2 สายพันธุ์ จะเรียกว่า "ไฮบริด" หรือลูกผสมจะใช้ชื่อเรียกขึ้นต้นด้วย X นำหน้า ตามด้วย A, B และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 17 ตัว บางการผสมพันธุ์เคยพบมานานพอสมควร แต่มี 3 ตัวที่ยอมรับว่าเป็นไฮบริดจริง คือ ตัวแรก XA ตั้งแต่ ธ.ค.63 เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ B.1.1.7 กับ B.1.177 ตัวที่ 2 คือ XB ผสมระหว่าง B.1.634 กับ B.1.631 และตัวที่ 3 คือ XC ผสมระหว่าง AY.29 กับ B.1.1.7 เป็นต้น ปัจจุบันหมดไปจากโลกแล้ว เป็นธรรมชาติ เป็นกติกาของไวรัส ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไร"
แจง "ภูมิคุ้มกันหมู่" ชี้มีแล้วยังติดเชื้อ-แต่ไม่หนัก
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการระบุถึงภูมิคุ้มกันหมู่อาจไม่มีจริงว่า ข้อมูลโควิดฯ เปลี่ยนแปลงตลอด มีความไม่แน่นอนสูง ฉะนั้นการพิจารณาหรือตัดสินใจเรื่องใดในภาคปฏิบัติระดับประเทศต้องอาศัยความคิดเห็น และหลักฐานเชิงประจักษ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ความเห็นของคนใดคนหนึ่ง ยืนยันข้อมูลที่ออกไปจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศบค. คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นผู้ให้ความคิดเห็น รวมทั้งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์
“คำว่าภูมิคุ้มกันหมู่มีหลายประเทศที่เป็นตัวอย่าง พอติดเยอะๆ แล้วเกิดภูมิคุ้มกันมากๆ การระบาดก็ลดลง เป็นตัวยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ต้องตีความและแปลความกันใหม่ เนื่องจากหลายประเทศแย้งว่าฉีดวัคซีนไปเยอะทำไมยังติดเชื้ออยู่ ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้แปลว่ามีแล้วไม่ติดเชื้อ แต่มีแล้วติดเชื้อไม่ระบาดมากขึ้น การฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญการที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะฉีดวัคซีนครอบคลุมค่อนข้างมาก ย้ำวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตได้ ตัวเลขที่ผ่านมาลดได้ 40-50 เท่า
...
พบ "วัยทำงาน" ป่วยเยอะ "เด็กเล็ก" ติดเชื้อ-ตายพุ่ง
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดระลอกนี้ มีเด็กเล็กติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 0-4 ปี ซึ่งพบกลุ่ม 0-4 ปี เสียชีวิต 27 ราย มากกว่าระลอก เม.ย.ปี 2564 ซึ่งเสียชีวิต 23 ราย เนื่องจากโอมิครอนแพร่เชื้อเร็ว และเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว จึงไม่ค่อยสังเกตอาการเด็ก เมื่อเด็กป่วยพ่อแม่จึงรู้ช้า อีกทั้งเป็นวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่พบการป่วยสูงสุดเวลานี้ คือ กลุ่มวัยทำงาน 30-39 ปี ส่วนกลุ่มวัยรุ่น 10-19 ปี แม้การติดเชื้อเริ่มลดลงเพราะเป็นช่วงปิดเทอม แต่ก็เป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ไปสู่คนอื่นได้ จึงย้ำให้ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิและป้องกันการป่วยหนัก
...
สปสช.แยกสายด่วน 1330 ผู้ป่วยโควิด กลุ่มเสี่ยงกด 18
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิดฯ ระดับสูงคงตัว และคาดการณ์ช่วงหลังสงกรานต์จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและจัดระบบดูแล สปสช.ได้จัดเตรียมสายด่วน สปสช. 1330 รองรับได้เพิ่มคู่สายเป็น 3,000 คู่สายแล้ว โดยเปิดสายด่วน 1330 กด 18 เพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะกลุ่ม 608, เด็ก 0-5 ขวบ, คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ การรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation-HI ให้ก่อน พร้อมประสานหาเตียงเพื่อเข้ารักษาใน รพ. ส่วนกลุ่ม สีเหลือง-แดงเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาใน รพ.รัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ โทร.1669
ผู้ป่วยกลุ่มทั่วไป กด 14
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อทุกสิทธิการรักษาที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงให้โทร.เข้าสายด่วน 1330 กด 14 เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำการรักษาตามอาการ กรณีเป็นกลุ่มสีเขียวจะแนะนำรักษาตามนโยบายเจอ แจก จบ และแยกกักตัวที่บ้าน หรือจะเข้าระบบ HI ก็ได้ กรณีโทร.สายด่วนไม่ติด เนื่องจากอาจมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ให้ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ สปสช. หรือทางไลน์ สปสช. @nhso หรือเฟซบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถติดต่อสายด่วนของแต่ละจังหวัด เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตามแนวทางที่กำหนดได้เช่นกัน โดยดูที่เฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด ส่วน กทม.ดูได้ที่เว็บไซต์ตามลิงก์นี้ และเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีระบบของกรมการแพทย์และภาคีเครือข่ายสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ลงทะเบียนได้ที่นี่ เวลาทำการ 08.30-16.30 น. รวมถึงแอดไลน์ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิดฯ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อขอคำแนะนำการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิดได้ แอดไลน์ที่นี่
...
สบส.เอาผิด รพ.เอกชนแจกยาฟาวิฯ
ส่วน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับข้อมูลว่ามี รพ.เอกชนแห่งหนึ่งย่านบางปะกอก โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ พบว่าการโฆษณาข้างต้นมิได้ขออนุมัติจาก สบส. รวมทั้งมีโฆษณาอื่นๆ ของ รพ.ที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง จึงมีหนังสือคำสั่งให้ระงับการโฆษณา และเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมารับทราบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เรื่องการโฆษณา ได้แก่ 1. เผยแพร่โฆษณาหรือประกาศฯ โดยไม่ได้ขออนุมัติ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และ 2. โฆษณาหรือประกาศ อันเข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา นอกจากนี้ยังกระทำผิด พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการโฆษณายาฟาวิพิราเวียร์อีกด้วย
ย้ำต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น เตือนไม่ระวังอาจส่งผลต่อสุขภาพ
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ มิใช่จะจ่ายให้ผู้ป่วยทุกรายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ หากใช้โดยไม่ระมัดระวังอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ หญิงตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรก การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ การใช้ยาอาจทำให้ตับทำงานหนักขึ้นได้ จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ารับการวินิจฉัยและประเมินอาการจากแพทย์ เพื่อการรักษาและจ่ายยาที่เหมาะสมตามอาการ ไม่ควรจัดหาหรือซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เองโดยเด็ดขาด
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun