สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ดำเนินโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร มาตั้งแต่ปี 2559 และได้ขยายโครงการฯ เฟส 2 ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2562-2564 เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ในปีการผลิต 2564/2565 ปี 2565/2566 และปี 2566/2567 ที่กำหนดเป้าหมายปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 10 ร้อยละ 5 และร้อยละ 0 ตามลำดับ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการนำใบอ้อยที่เหลือจากการตัดอ้อยสดไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกิน ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ปรับพื้นที่ปลูกอ้อย พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ตามแนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายในปี 2565

โดยผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร เฟส 2 ปี 2562-2564 ประกอบด้วย

1.การพัฒนาแหล่งน้ำ และการปรับพื้นที่ปลูกอ้อย มีเกษตรกรกู้ 877 ราย

2.การจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรรถตัดอ้อย/รถคีบอ้อย มีเกษตรกรกู้ 751 ราย

คิดเป็นรถตัดอ้อย 417 คัน รถแทรกเตอร์/รถบรรทุกอ้อย มีเกษตรกรกู้ 470 ราย

สรุปผลการจ่ายเงินกู้ โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (เฟส 2) ปี 2562-2564 มีเกษตรกรกู้ 2,098 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,579 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่ช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน