นพ.จักรรัฐ ย้ำ สงกรานต์ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม และเล่นน้ำ แจงรายละเอียดยิบกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ยันฉีดวัคซีน 4 เข็มเพียงพอ หากฉีดมากอาจเกิดอาการแพ้ได้

วันที่ 4 เมษายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 และคำแนะนำช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า กลุ่มผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไต การติดเชื้อยังเป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-40 ปี และกลุ่ม 20-29 ปี

ส่วนกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงกว่า จึงขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก 0-4 ปี ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กพบเข็มที่ 1 มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย และฉีดครบ 2 เข็ม เสียชีวิต 3 ราย แต่ปัจจุบันก็มีเด็กที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่สำคัญช่วงเทศกาลสงกรานต์ แบ่งออกเป็นดังนี้

กลุ่มเสี่ยง ต่อการป่วยหนัก
1.ผู้สูงวัยไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากคนดูแล ญาติ
2.กลุ่ม 608 ยังทำงานได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้อื่น
3.เด็กเล็ก (อายุ <5ปี) พบข้อมูลการเสียชีวิต 60% มาจากติดเชื้อในครอบครัว และอีก 40% ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ ส่วนเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มติดเชื้อลดลงเพราะปิดเทอม ขณะที่วัยทำงานยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่สูงมาก

สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ต่อการแพร่โรควงกว้าง
1.ทานข้าว ดื่มสุราร่วมกันเป็นเวลานาน
2.ร่วมงาน/กิจกรรม ที่ไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่ดีเพียงพอ
3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสาร ที่แออัด

...

มาตรการขอความร่วมมือประชาชน ดังนี้
1.ผู้สูงวัย เด็ก 5 ปีขึ้นไป ให้รีบไปฉีดวัคซีน
2.ก่อนพบกลุ่ม 608 ให้สวมหน้ากาก และมี ATK เป็นลบ
3.เลี่ยงพาผู้สูงวัย เด็กเล็ก ไปสถานที่พลุกพล่าน แออัด
4.เลี่ยงทานข้าว ดื่มสุรา เป็นเวลานาน
5.เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง
6.สถานประกอบการพิจารณาให้พนักงาน WFH 5-7 วันก่อนกลับทำงาน และมี ATK เป็นลบ

นพ.จักรรัฐ ยังเน้นย้ำในช่วงท้ายว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังคงห้ามประแป้ง เล่นน้ำ และปาร์ตี้โฟม ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน อย่างน้อยต้องมีการฉีด 3 เข็ม หากฉีดมาแล้วเกิน 3 เดือนให้ไปฉีดเข็มต่อไปได้ เนื่องจากผู้เสียชีวิต ยังพบว่ามีการเข้ารับวัคซีนห่างกันเกินกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ยังคงให้ฉีดแค่ 4 เข็มอยู่ เพราะหากฉีดมากเกินไปอาจจะเกิดการแพ้วัคซีนได้.