สปสช.ปรับใหม่สายด่วน 1330 เสริมช่องทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 608 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเร่งเปิดบ้านฉุกเฉินช่วยเด็กติดโควิดทั่วประเทศ หลังกระทบหนักจากระบบการศึกษานับหมื่นคน สลดหญิงวัย 60 ปี ป่วยเส้นเลือดสมองเครียดติดโควิดยกบ้านกลัวเป็นภาระตัดสินใจผูกคอลาโลก

การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงรุนแรงสร้างผลกระทบให้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กๆและผู้สูงวัยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับแผนเร่งรัดช่วยเหลือ

โควิดคร่าชีวิตรายวัน 87 ศพ

วันที่ 30 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,389 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,298 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 25,081 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 217 ราย เรือนจำ 44 ราย มาจากต่างประเทศ 47 ราย หายป่วยเพิ่ม 26,084 ราย อยู่ระหว่างรักษา 244,372 ราย อาการหนัก 1,727 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 679 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย เป็นชาย 39 ราย หญิง 48 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 69 ราย มีโรคเรื้อรัง 14 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,600,787 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,331,370 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 25,045 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 485,550,064 ราย เสียชีวิตสะสม 6,157,114 ราย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดประกอบด้วย กทม. 3,325 ราย ชลบุรี 1,283 ราย นครศรีธรรมราช 889 ราย สมุทรปราการ 848 ราย สมุทรสาคร 793 ราย นนทบุรี 785 ราย ราชบุรี 688 ราย ฉะเชิงเทรา 657 ราย ระยอง 556 ราย พระนครศรีอยุธยา 550 ราย

เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กติดเชื้อ

ที่ศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็กเกียกกาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิด “บ้านปันยิ้ม” เพื่อแม่และเด็ก และระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางในวิกฤติโควิด-19 นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็ก เผยว่า จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีเด็กติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 2.9 แสนคนภายในระยะไม่ถึง 1 ปี พม.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์ประสานงาน ช่วยเหลือเด็กไป 6,535 คน เป็นเด็กยากจน ได้รับการเลี้ยงดูมิชอบ ถูกทารุณกรรม 4,489 คน และเป็นเด็กกำพร้าจากการที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 จำนวน 448 คน แต่เดือน ธ.ค.64 ถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการระบาดของโอมิครอน เพียง 4 เดือน มีเด็กติดเชื้อ 234,790 คน เดือน ก.พ.65 พบเด็กติดเชื้อสูงถึงวันละ 4,000-5,000 คน กระทั่งมาลดลงในเดือน มี.ค. แต่สถิติโดยรวมยังสูงคือ ไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน ขณะนี้ ดย. มีบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด เป็นหน่วยแรกรับและประสานส่งต่อ

...

ห่วงกระทบไม่ได้เรียนต่อ

นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปีที่แล้วมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 แสนคน กระทรวง ศึกษาธิการได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเด็กกลับเข้าระบบ จนขณะนี้เหลือหลักหมื่นกว่าคนที่ยังตามตัวอยู่ ทั้งนี้ 3 เดือนอันตรายระหว่างปีการศึกษาเป็นช่วงเสี่ยงมาก โดยเฉพาะรอยต่อที่เด็กจบ ป.6 ต่อ ม.1 และ ม.3 ไปต่อ ม.ปลายหรือ ปวช. การติดโควิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้อาจจะเห็นแนวโน้มการไม่กลับสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นต้องอาศัยพลังการทำงานร่วมกันทุกส่วนเพื่อไม่ให้เด็กหลุดจากระบบเพราะเป็นความเสียหายระดับประเทศ อีกเป้าหมายสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดคือ การเปิดเทอมที่ปลอดภัย การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและเรียนออนไลน์ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

สธ.ยังไม่เลิกสายด่วน 1330

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะยกเลิกสายด่วน 1330 ในระบบ Home Isolation หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การจะทำให้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีหลักเกณฑ์มากมาย เราต้องควบคุมสถานการณ์ให้ดีก่อน ไม่ทำตามกระแส ดังนั้นไม่ต้องกังวล ส่วนสายด่วน 1330 ตอนนี้ยังไม่มี อะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนมาตรการช่วงสงกรานต์ หลักการง่ายๆ คือการป้องกันตัวเองก่อนกลับบ้านช่วงสงกรานต์ (Self-Clean Up) ลดความเสี่ยงตัวเอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป พร้อมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเข็มกระตุ้น ทั้งเข็ม 3 และ 4

ปรับแนวทางช่วยกลุ่ม 608

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้ปรับระบบสายด่วน สปสช.1330 ผู้ป่วย ทุกสิทธิเมื่อโทร.สายด่วนแล้ว กด 14 จะเข้าสู่ระบบการคัดกรองอาการ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่ระบบการรักษาของแต่ละสิทธิ กรณีที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแนะนำให้ไปรับบริการผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กลุ่ม 608 เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ให้โทร. 1330 กด 18 เพื่อเข้าระบบการคัดกรองและประเมินความเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ผู้ป่วยสิทธิอื่นให้ติดต่อสายด่วนของแต่ละสิทธิ แต่เนื่องจากพบปัญหาว่า ผู้ป่วยสิทธิอื่นยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้น สปสช.จะประสานให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 สิทธิอื่นด้วย เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิของตัวเองไว้ด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือและลดการรอคอย ขอย้ำว่าการดำเนินการของ สปสช.ดังกล่าว เป็นระบบเสริมเพื่อช่วยแต่ละจังหวัดและกรุงเทพ มหานคร รับเรื่องจากผู้ป่วย สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาตัวในระบบหลักของแต่ละจังหวัด ที่เฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกรุงเทพฯ ดูได้ที่เว็บไซต์ของกรุงเทพฯ https://main.bangkok.go.th  ได้เช่นเดิม

...

แจงขั้นตอนการให้บริการ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ มีทางเลือกต่างๆ ดังนี้ 1.ถ้าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และไม่มีอาการ ให้อยู่บ้าน กินยาตามอาการ เช่น ไอ กินยาแก้ไอ เจ็บคอ กินยาแก้เจ็บคอ เป็นไข้ กินยาแก้ไข้ เป็นต้น 2.พบแพทย์เพื่อดูอาการ แพทย์จะจ่ายยาให้ตามอาการ 3.โทร.สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อคัดกรองเบื้องต้นในระบบอัตโนมัติ ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จะส่งไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ถ้ามีความเสี่ยงจะส่งเข้าระบบกักตัวที่บ้าน หรือ HI ทุกสิทธิการรักษา 4.กรณีกลุ่ม 608 ทุกสิทธิ ให้โทร.1330 กด 18 จะมีระบบการคัดกรอง ซึ่งกลุ่ม 608 ทุกคนทุกสิทธิจะเข้าสู่ระบบ HI หรือศูนย์พักคอย (CI) กรณีมีอาการจะประสานส่งเข้าโรงพยาบาล

แนะเตรียมตัวก่อนสงกรานต์

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมบ้านพร้อมรับลูกหลานช่วงสงกรานต์ ควรจัดสภาพแวดล้อมและระบบระบายอากาศให้ถ่ายเททุกห้องในบ้าน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเททุก 1-2 ชั่วโมง การกำจัดขยะติดเชื้อให้ใส่ในถุงแดง มัดปากถุงให้แน่น ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ และใส่ถุงแดงอีกชั้น นำไปทิ้งในจุดที่ทิ้งขยะติดเชื้อ กรณีไม่มีถุงแดงและสถานที่รับถุงแดง ให้นำใส่ถุงขยะทั่วไป ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ และใส่ถุงซ้อนอีกชั้นก็สามารถนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไปได้

...

เข้มมาตรการเดือนรอมฎอน

นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬา ราชมนตรี กล่าวถึงมาตรการความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติศาสนกิจช่วงการถือศีลอด เดือนรอมฎอนและวันอีดิ้ลฟิตรี ปี 2565 ว่า สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศให้ปฏิบัติในเดือนรอมฎอน เริ่มจากการรวมตัวรับประทานอาหารก่อน พระอาทิตย์ขึ้นและหลังพระอาทิตย์ตก หากเป็นผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกันไม่มีปัญหา ผู้ทำงานต่างจังหวัดและกลับมาร่วมถือศีลอดกับครอบครัว ขอให้แยกรับประทานและไม่ใช้ภาชนะรวมกัน ส่วนการทำละหมาดเราสามารถทำที่บ้านได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องไปละหมาดที่มัสยิด มัสยิดต้องเตรียมสถานที่ และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด อาทิ กำหนดจุดยืนละหมาดให้ห่างกัน จัดสถานที่ด้านนอกอาคาร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี หากต้องทำในอาคารไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ ทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสวมกอด ใช้เวลาในการละหมาดให้น้อยที่สุด ส่วนการรับประทานอาหารที่มัสยิด ขอให้จัดอาหารเฉพาะบุคคล หรือหากเป็นไปได้ขอให้ปรุงอาหารและบรรจุถุงแจกตามบ้าน ผู้สูงอายุและเด็ก ยังไม่สมควรละหมาดร่วมกันที่มัสยิด และหลังการปฏิบัติศาสนกิจเดือนรอมฎอนและวันอีดิ้ลฟิตรีแล้ว ขอให้สังเกตอาการ 10 วัน หากสงสัยให้ตรวจ ATK และงดการพบผู้คนจำนวนมากในช่วงสังเกตอาการ

ส.ส.ก้าวไกลอาการไม่หนัก

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรค ก้าวไกลโพสต์ทวิตเตอร์แจ้งข่าวการติดโควิด-19 ว่า 2 วันที่ผ่านมา มีไข้ ไอ เจ็บคอ ตรวจ ATK ด้วยตัวเองเช้าเย็นแต่ไม่เจอ จนวันนี้ก่อนเข้าประชุม กมธ.ได้ตรวจที่สภาฯ และพบว่าติดเชื้อ หากผู้ใดได้ใกล้ชิดให้สังเกตอาการด้วย จากนั้นเวลา 11.10 น. นายเท่าพิภพให้สัมภาษณ์ว่า มาประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ... และได้ตรวจ ATK ที่สภาฯ ก่อน เข้าห้องประชุม พบว่าติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ จึงจะรักษาตัวที่บ้าน คาดว่าติดเชื้อมาจากการลงพื้นที่ พบปะประชาชนในชุมชนต่างๆ และยังคงจะทำงานต่อโดยประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

...

เครียดติดโควิดผูกคอดับ

ส่วนสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั่วประเทศ เมื่อเวลา 10.30 น. ร.ต.ท.ธรรมนูญ บรรเทิงจิตต์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.เมืองฉะเชิงเทรา รับแจ้งคนผูกคอตาย ในห้องเช่าเลขที่ 54/17 ถนนทางเข้าวัดเซนต์ปอล หมู่ 9 ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา ประสานแพทย์เวร รพ.พุทธโสธร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยฉะเชิงเทราเข้าตรวจสอบภายในห้องเช่าพบศพนางวรังคณา ใจดี อายุ 60 ปี นอนอยู่ด้านหลังห้อง ใกล้กันพบปลั๊ก พ่วงสีขาว สายไฟยาว 3 เมตร ที่ผู้ตายใช้ผูกกับขื่อ เหล็กหลังคาจบชีวิต หลังแพทย์เวรตรวจ ATK พบผู้เสียชีวิตติดเชื้อโควิด-19 ไม่พบร่องรอยการทำร้ายหรือสิ่งผิดปกติ มอบร่างให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยฉะเชิงเทรา นำไปฌาปนกิจทันทีที่วัดดอนทอง ระหว่างทำพิธีหลานๆ ได้โทรศัพท์วิดีโอคอลหานายสมาน สามีของนางวรังคณา ซึ่งอยู่ระหว่างรักษาตัวจากอาการโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนามไม่สามารถมาร่วมงานได้ เจ้าตัวถึงกับร่ำไห้ ตัดพ้อว่ามาด่วนจากกันไปไม่ได้ทันตั้งตัว นายต้น อายุ 43 ปี หลานชาย เผยว่า ก่อนหน้านี้นางวรังคณาได้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์ให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน ภายหลังคนในบ้านทั้งสามี และหลานๆอีก 2 คน ทยอยติดเชื้อโควิด-19 เจ้าตัว กังวลว่าจะเป็นภาระคนอื่น ส่วน น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี หลานสาวเผยว่า เมื่อตาถูกส่งตัวไปรักษาอาการโควิด-19 ยายรู้สึกเครียดและกังวล ยิ่งทราบว่า ตัวเองติดเชื้อตามไปด้วยยิ่งวิตก ช่วง 8 โมงเช้า ตนเดินไปหลังบ้านพบยายใช้สายไฟผูกคอตาย จึงเรียกน้องชายที่ป่วยโควิดอยู่มาช่วยนำร่างลงมา

คลัสเตอร์ใหม่โผล่รายวัน

ที่ จ.นครราชสีมา ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงทั้งยังพบคลัสเตอร์ใหม่ 4 คลัสเตอร์ อาทิ คลัสเตอร์สถานสงเคราะห์บ้านคนชราธรรมปกรณ์วัดม่วง ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ผู้ป่วย 65 รายในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 54 รายและเจ้าหน้าที่ 11 ราย คลัสเตอร์ งานบวชบ้านหนองหัวช้าง หมู่ 7 ต.เสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ ผู้ป่วย 55 ราย คลัสเตอร์เครือญาติบ้านจาบ หมู่ 9 ต.โนนแดง อ.โนนแดง ผู้ป่วย 22 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 ราย และคลัสเตอร์พนักงานบริษัท สีมาคอนเทนเนอร์แบ็ก จำกัด อ.เมืองนคร ราชสีมา ผู้ป่วย 48 ราย คัดกรองเชิงรุกและอยู่ระหว่างสอบสวนโรค ผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานประสงค์กักตัวที่บ้าน ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด ประชาชนสามารถรับบริการวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลอำเภอทั้ง 23 อำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ออก ให้บริการในเชิงตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้ถึงที่บ้าน ตั้งเป้าดำเนินการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608 และผู้ที่ประกอบอาชีพ ด้านการบริการต่างๆ เช่น พนักงานร้านอาหาร ร้าน สะดวกซื้อ ไปรษณีย์ และกลุ่มอาชีพที่จะต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 คน ภายใน เดือน มิ.ย.

ไม่พร้อมเป็นโรคประจำถิ่น

ที่ จ. สุรินทร์ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำโดยนายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รอง ผวจ.สุรินทร์ นพ.สินชัย ตัณติรัตนานนท์ สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นพ้องให้เลื่อนการส่งเรื่องถึง ศบค.ส่วนกลางขอประกาศนำร่องให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นใน จ.สุรินทร์ ไปก่อน เนื่องจากจะต้อง ระวังสถานการณ์ช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึง ประกอบกับอัตราครองเตียงผู้ป่วยหนักยังสูง 8.6% อัตราการฉีดวัคซีน 608 ยังไม่ถึง 80% อัตราป่วยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นยังไม่ลด นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.สุรินทร์ กล่าวว่า หลังจบเทศกาลสงกรานต์จะประเมินอีกครั้ง แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดแรกที่จะนำร่องสู่การเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องประเมินก่อนว่าพร้อมจริงถึงส่งเรื่องไปให้ ศบค.ส่วนกลางพิจารณา

ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาฟรี

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา แบบ Walk in ฟรีให้กับประชาชนทั่วไป ต่างด้าว หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในวันที่ 6 เม.ย. เวลา 10.00-17.00 น. ที่ MCC HALL เดอะมอลล์บางแค ใกล้รถไฟฟ้า MRT สถานีหลักสอง สอบถามได้ที่ 0-2624-5200 หรือ ติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก : MRT Bangkok Metro/ ทวิตเตอร์ : MRT Bangkok Metro/อินสตาแกรม : mrt_bangkok และโมบายแอปพลิเคชัน : Bangkok MRT