ม.ราชภัฏอุบลฯ ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก "ผึ้งหยาดอำพันภูจอง" พบแห่งเดียวในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ถือเป็นกลุ่มของผึ้งหายาก ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบเพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มี.ค. 2565 ที่ห้องประชุมโกมุท ชั้น 4 อาคารเรียนและปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมแถลงข่าว การค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก "ผึ้งหยาดอำพันภูจอง" ผึ้งเฉพาะถิ่นชนิดใหม่ของโลก ที่พบแห่งเดียวในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ในโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของไทยและโลก

ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา ผู้ค้นพบ เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมปี 2561 ในระหว่างการเดินทางไปเก็บตัวอย่างภาคสนามที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี ทีมนักวิจัยพบรังผึ้งกลุ่มเล็กๆ 7 รังบนตลิ่งดินแนวดิ่ง จึงทำการขุดค้นรังทั้งหมด และนำกลับมายังห้องทดลองของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเพื่อทำการตรวจ 

...

หลังจากเลี้ยงจนผึ้งโตเต็มวัย ในที่สุดก็สามารถระบุได้ว่าเป็นสายพันธุ์ชนิดใหม่ของ Ranthidiellum และตั้งชื่อว่า "ผึ้งหยาดอำพันภูจอง" เป็นการตั้งชื่อสัตว์สายพันธุ์ใหม่ โดยให้เกียรติสถานที่ที่เขาอยู่อาศัย และลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของเขา จะทำให้คนสนใจในสถานที่ที่ค้นพบและต่อยอดเศรษฐกิจในพื้นที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

โดยผึ้งหยาดอำพันภูจอง จัดอยู่ในสกุล Anthidiellum สกุลย่อย Ranthidiellum ซึ่งเป็นกลุ่มของผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้าเพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และมีการค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบทั้งหมดเป็นเพียงการพบเจอตัวผึ้ง โดยไม่ทราบแง่มุมทางชีววิทยาใด ๆ เลย ซึ่งมีการพบรังของผึ้งกลุ่มนี้ว่า มีการสร้างท่อยางไม้เป็นปากทางเข้ารัง เพียงครั้งเดียวเท่านั้นจากประเทศมาเลเซีย ส่วนประเทศไทย มีการพบผึ้งกลุ่มนี้ 2 ชนิด ผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงจัดเป็นชนิดที่ 5 ของกลุ่มนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงความหายากของผึ้งกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

สำหรับ ผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีลักษณะอาศัยอยู่ในรังบนผาดิน จะใช้ยางไม้ในการสร้างรังและปากทางเข้ารัง โดยเฉพาะยางต้นเหียง หรือยางเหียง ที่ขึ้นในป่าเต็งรัง มีมากในอุทยานแห่งชาติภูจอง ตอนที่ทีมวิจัยเจอรังผึ้ง เป็นช่วงที่แสงแดดส่องกระทบรังผึ้ง มีสีเหลืองอำพันระยิบระยับ เพศเมียจะมีเหล็กใน (sting) ใช้สำหรับป้องกันตัว ซึ่งมีพิษอยู่เล็กน้อย สามารถต่อยได้หลายครั้ง ต่างจากผึ้งพันธุ์ที่ให้น้ำหวานที่จะต่อยครั้งเดียวแล้วผึ้งจะตายไป เนื่องจากสลัดเหล็กในออกไม่ได้ ปกติผึ้งหยาดอำพันภูจองจะไม่ต่อยคนหากไม่ถูกรบกวนมากจนเกินไป ขณะที่เพศผู้ หลังจากออกจากดักแด้ จะมีบทบาทเฉพาะการสืบพันธุ์กับเพศเมียจากนั้นก็จะตายไป

...