หลายคนอาจรู้แล้วว่าในเดือน เม.ย. ปี 2021 ธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ของไต้หวันอย่าง CTBC Bank Company Limited (CTBC) ได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) หรือบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพิ่มขึ้นอีก 10.99% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ LHFG ด้วยสัดส่วน 46.607%

แน่นอนว่าธนาคารอันดับ 1 ของไต้หวันย่อมมีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายกว้างขวาง หลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ย่อมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของ LHFG ที่เป็นบริษัทแม่ของ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ

การเข้ามาของ CTBC จะเปลี่ยนแปลงแนวทางของ LHFG อย่างไร และ LHFG จะเติบโตไปในทิศทางไหน เราชวนมาคุยกับผู้บริหารคนสำคัญขององค์กรระดับภูมิภาคอย่าง ‘เฉิน เจีย-เหวิน’ กรรมการผู้จัดการของ CTBC Bank

CTBC Bank ร่วมมือกับ แอลเอชกรุ๊ป (LHFG)นาย เฉิน เจีย-เหวิน กรรมการผู้จัดการ CTBC Bank (ซ้ายที่สอง)นาย ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการบริษัทแอลเอชฯกรุ๊ป (ขวาที่สอง)นาย เกา เหริน-เหจีย หัวหน้าฝ่ายธุรการ CTBC Bank (ซ้ายที่หนึ่ง)นาง ชิว หย่า-หลิง หัวหน้าฝ่ายการเงิน CTBC Bank (ขวาที่หนึ่ง)อธิบายกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจในอนาคต
CTBC Bank ร่วมมือกับ แอลเอชกรุ๊ป (LHFG)นาย เฉิน เจีย-เหวิน กรรมการผู้จัดการ CTBC Bank (ซ้ายที่สอง)นาย ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการบริษัทแอลเอชฯกรุ๊ป (ขวาที่สอง)นาย เกา เหริน-เหจีย หัวหน้าฝ่ายธุรการ CTBC Bank (ซ้ายที่หนึ่ง)นาง ชิว หย่า-หลิง หัวหน้าฝ่ายการเงิน CTBC Bank (ขวาที่หนึ่ง)อธิบายกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจในอนาคต


การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดไทยเต็มตัวของ CTBC

‘เฉิน เจีย-เหวิน’ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจภูมิภาค ในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน หลายปีที่ผ่านมาบริษัทไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น ต่างเริ่มขยายขนาดธุรกิจในเมืองไทย เพื่อตอบรับกับบทบาททางเศรษฐกิจของไทย CTBC จึงได้ขยับเข้าสู่ตลาดไทยผ่านความร่วมมือกับ LHFG

“การขยายธุรกิจในเมืองไทยและร่วมมือกับ LHFG ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการสู้ในตลาดสากล โดยจุดแข็งบริการทางด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Consumer Finance) ของ CTBC Bank จะช่วยดึงสัดส่วนบริการทางด้านสินเชื่อผู้บริโภค ของ LH Bank ให้เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 20-50%”

“รวมถึงสร้างการเติบโตในธุรกิจอย่างน้อย 2 หลักต่อปี โดยบริษัทตั้งเป้าขยับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ราว 3.6-9% จากเดิมภายใน 5 ปี”

พร้อมเตรียมเดินหน้าปรับทิศทางการดำเนินงาน เพื่อสร้างการเติบโตก้าวกระโดดตามเป้าหมาย

ปรับทิศธุรกิจ มุ่งเจาะกลุ่ม SMEs

กรรมการผู้จัดการของ CTBC อธิบายว่า ประเทศไทยนั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง โดยมีบริษัทไต้หวันมากกว่า 5,000 รายทำธุรกิจอยู่ในเมืองไทย

ในขณะที่ LH Bank นั้นมีลูกค้ารายใหญ่เป็นลูกค้าหลัก ทำให้อัตราผลตอบแทนค่อนข้างบาง และเพิ่มผลกำไรได้ค่อนข้างช้า

หลังจากการเพิ่มการถือหุ้นของ CTBC Bank ในปี 2021 บริษัทจึงจะมุ่งขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย (SMEs) และบริการการเงินด้านผู้บริโภค

นอกจากนั้น บริษัทจะนำประสบการณ์จากเครือข่ายความเชี่ยวชาญระดับโลกของ CTBC Bank ไปช่วยเสริมสร้างการจัดการธุรกิจในฝ่ายธนาคาร หลักทรัพย์ และกองทุน เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าและขับเคลื่อนโมเมนตัมการเติบโต รวมถึงเดินหน้าพัฒนาบริการการเงินทางดิจิทัลแบบ end-to-end เพื่อให้การซื้อขายสะดวกยิ่งขึ้น

โดยจะมี ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการของ LHFG ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก และผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายปฏิบัติการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CTBC Bank ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการปรับทิศทางเสริมสร้างธุรกิจ เพื่อก้าวสู่โฉมใหม่ใน 5 ปีข้างหน้า

เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

พร้อมๆ กับการปรับทิศทางนั้น CTBC ยังมองเห็นโอกาสในการเดินตามกลยุทธ์ดิจิทัล เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) และแพลตฟอร์มดิจิทัล (Platform) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ภายใต้แนวคิด ‘ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง’ (Customer Centric) โดยมีสิ่งที่จะเร่งเดินหน้า 3 ส่วน ได้แก่

1) ลูกค้าเป็นศูนย์กลางด้วย End-to-End Digitalization (EdgE)

บริษัทจะเร่งปรับปรุงการทำงานให้ทันสมัย เพิ่มความสามารถในการบริการลูกค้า โดยใช้ ‘ความต้องการของลูกค้า’ เป็นศูนย์กลางในการปรับปรุงการทำงาน ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม

รวมถึงบริษัทยังจะเดินหน้าพัฒนาทิศทางการคิดแบบดิจิทัล (Digital Thinking) และพัฒนาระบบภายในองค์กรให้สามารถทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (Agile Development) ไปจนถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และซอฟต์แวร์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation :RPA) มาใช้ในทุกธุรกิจของบริษัท

2) ใช้ ‘ฐานข้อมูล’ อ้างอิงงานวิจัย

นอกจากนั้น บริษัทยังจะสานต่อโครงการ CTBC +AI ใช้ฐานข้อมูล (Big Data) และงานวิจัย ตามแผนด้านกลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อช่วยพัฒนาด้านการควบคุมความเสี่ยง การเพิ่มกำไร และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร

3) เปลี่ยนแปลง ‘ระบบข้อมูล’ ยกระดับมาตรฐาน

และเพื่อยกระดับการกำกับดูแลข้อมูลตามมาตรฐาน บริษัทจะใช้วิธีการ Model Bank ที่ประกอบด้วย 4 ตัวอักษรหลักอย่าง DBOT ที่ย่อมาจาก Design ที่หมายถึง การออกแบบ และ Build ที่หมายถึง การติดตั้ง รวมถึง Operate ที่หมายถึงการปฏิบัติการ และ Transfer ที่หมายถึงการโอนย้ายด้วย เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานระบบข้อมูลภายในด้วย

จากแนวทางทั้งหมดที่กรรมการผู้จัดการของ CTBC Bank เล่าให้เราฟัง ก็คงเห็นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของกลุ่ม LHFG เพราะเป็นการเสริมแกร่งด้วยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง

เส้นทาง 5 ปีต่อจากนี้ของ LHFG ภายใต้ความร่วมมือกับ CTBC จึงเป็นเส้นทางที่น่าจับตา