16 มีนาคม 2565 เป็นวันเริ่มต้นประเดิมการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิควบคู่กับการใช้ UCEP PLUS ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

หลังจากที่ได้ค่อยๆปรับระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามสถานการณ์และความรุนแรงของโรค ที่มีสายพันธุ์หลัก ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกคือ สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีความรุนแรงของโรคลดลง และหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ขณะที่ระบบการรักษาก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการรักษาโดยระบบกักตัวที่บ้านเป็นหลัก หรือ Home Isolation หรือ HI First และ OPD เจอ แจก จบ ทั้งล่าสุดคือ การยกเลิก UCEP COVID-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด-19ได้อย่างปกติแบบนิวนอร์มอล

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เล่าถึงที่มาของ UCEP COVID-19 เพื่อสร้างความเข้าใจว่า ตั้งแต่ปี 2563ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใหม่ๆ เราประกาศให้ผู้ป่วยทุกระดับอาการ รักษาที่ไหนก็ได้ เรียกว่า UCEP COVID-19 แต่ขณะนี้โรคมีความรุนแรงลดลง และเราปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา โดยใช้ระบบ HI เป็นหลัก และOPD เจอ แจก จบ ตามสถานการณ์ของโรค ขณะเดียวกันก็พบว่า เมื่อไปรักษาที่ไหนก็ได้ ประชาชนก็จะไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆต้องถูกเลื่อนไป ดังนั้น เมื่อพบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน ร้อยละ90 เป็นกลุ่มอาการสีเขียวคือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จึงให้กลับไปรักษาตามสิทธิตนเอง ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง สิทธิประกันสังคม

...

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

“ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP PLUS โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดงเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวจะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดงสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP PLUSได้เช่นกัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565 เป็นต้นไป” นพ.ธเรศกล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

สำหรับเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโควิด-19 หรือ UCEP PLUS นั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ให้รายละเอียดว่า ผู้ติดเชื้อทุกสิทธิที่มีผล ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ 1.มีภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลันมีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยกหรือ 2.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือมีภาวะออกซิเจนในเลือดแรกรับโดยที่ยังไม่ได้รับออกซิเจนน้อยกว่า 94% หรือโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลพินิจของแพทย์ หรือในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลงหรือเมื่อออกกำลังกายหรือออกแรงแล้วมีภาวะพร่องออกซิเจน โดยมีออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% หรือมีภาวะเสี่ยงสูงตามดุลพินิจของผู้คัดแยกหรือ 3.มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือมีโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ ต่อไมโครลิตรหรือตามดุลพินิจของผู้คัดแยก หากมีอาการดังกล่าว โทร.สายด่วน สพฉ.1669 หรือสอบถามสิทธิ UCEP PLUS โทร. 0-2872-1669

...

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองว่า เมื่อตรวจ ATKแล้วมีผลบวก และมีอาการเล็กน้อย จัดเป็นกลุ่มสีเขียวคือ มีไข้อุณหภูมิ37.5 องศาขึ้นไป, ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส, เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดงให้โทร.1330 เพื่อเข้าระบบการรักษาแบบ HI หรือ OPD เจอ แจก จบ ตามดุลพินิจของแพทย์ ให้โทร.สายด่วน 1330 กด2หรือไลน์ สปสช.ที่ @nhso

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง โทร.สายด่วน สปสช. 1330กด 18 เพื่อเข้าระบบการรักษา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่หากมีอาการเข้าเกณฑ์กลุ่มสีเหลืองและแดง สามารถโทร.1669 ได้ ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ให้ไปโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ กรณีอยู่ต่างพื้นที่เข้าโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมได้ และสิทธิข้าราชการเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง เพื่อเข้าระบบ HI หรือ OPD เจอแจกจบ

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนสิทธิการรักษา โดยการแบ่งกลุ่มการรักษาตามระดับอาการเพื่อให้สถานพยาบาลต่างๆ มีเตียงและอุปกรณ์ที่พร้อมดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และโรงพยาบาลยังได้กลับมาให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นๆได้ตามปกติ รวมถึงการบริหารจัดการกับโรคโควิด-19 เพื่อที่จะได้ปรับแนวทางให้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมการเป็นระยะๆ

แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การสื่อสารถึงขั้นตอนต่างๆน่าจะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด เพราะขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครต้องรับภาระอย่างหนักกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นหลักเฉียดครึ่งแสนต่อวัน และผู้ป่วยก็ยังมีความไม่แน่ใจและไม่เข้าใจถึงเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการประเมินความรุนแรงของโรค การสร้างความเข้าใจจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้

เพื่อให้สังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยทั้งสุขภาพกายและใจ รวมถึงเศรษฐกิจของชาติก็จะสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน.

ทีมข่าวสาธารณสุข

...