สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์หอมหัวใหญ่ ปี 2564/2565 มีพื้นที่ปลูกหอมรวม 8,504 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 3.34 ในขณะที่ได้ผลผลิต 34,647 ตัน น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.43 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า

โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ มีผลผลิตร้อยละ 74 ของผลผลิตทั้งประเทศ รองลงมาเชียงรายและนครสวรรค์ ผลผลิตส่วนใหญ่ทยอยออกตลาดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปถึงเดือนเมษายน แต่ผลผลิตจะออกมากสุดในเดือนมีนาคม

ภาพรวมราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นปี เนื่องจากผลผลิตลดลง พ่อค้าในพื้นที่เข้ามารับซื้อ
ผลผลิตมากขึ้น และการส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นส่งออกได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่การบริหารจัดการสินค้าหอมหัวใหญ่ในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ได้มีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตพืชหัวตกต่ำ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

ระยะเร่งด่วนเน้นมาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตที่สำคัญ ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายผลผลิตหอมหัวใหญ่ล่วงหน้าระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญกับผู้รวบรวมผู้คัดคุณภาพผลผลิต ส่งจำหน่ายให้กับห้างส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และโรงงานแปรรูป รวมทั้งมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร

ระยะยาววางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับตลาดรองรับ เพื่อลดผลผลิตกระจุกตัว บริหารผลผลิตตามพื้นที่การปลูกให้มีการเหลื่อมเวลาปลูก นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน โดย ธ.ก.ส.จะพิจารณาดำเนินโครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนใช้ในการชะลอการจำหน่ายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในทุกมาตรการ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป.

...

สะ-เล-เต