การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรของบ้านเรายังคงมะงุมมะงาหรา เกาไม่ถูกที่คันเสียที ในขณะที่ต่างประเทศนั้นพัฒนาไปไกล มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรและป่าไม้มาผ่านกระบวนการ gasification หรือ pyrolysis เพื่อนำวัสดุของแข็งเหล่านี้มาแปรรูปเป็นก๊าซหรือควบแน่นเป็นของเหลว เช่น ก๊าซมีเทน ไฮโดรเจน ไบโอออยล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อน กระแสไฟฟ้า ไอน้ำ และยังต่อยอดไปเป็นเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อีกมากมาย เพื่อใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากปิโตรเลียมกันอย่างจริงจัง

ส่วนในประเทศไทยที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นวาระแห่งชาติ เราจะเห็นแต่การนำชีวมวลใช้แบบพื้นฐานมากๆ คือ นำมา “เผา” ในเตาระบบปิดเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

แต่การเผานี้ไม่สามารถช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่ประการใด เพราะการเผาเกิดขึ้น ณ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลพลอยได้เป็นเศษวัสดุการเกษตรอยู่แล้ว และเป็นการเผาแบบธรรมดาเพื่อให้เกิดความร้อนเท่านั้น ไม่ได้ใช้กระบวนการ gasification หรือ pyrolysis ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้มากกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

...

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน พบว่า ขณะนี้บ้านเรามีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลจากอ้อย 60 โรง มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าขายประมาณ 500 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากทะลายปาล์ม 55 โรง มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 150 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าขายประมาณ 100 เมกะวัตต์ ไม่นับโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สจากมันสำปะหลังอีก 13 โรง

โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการลดฝุ่น เพราะใช้กากอ้อยและทะลายปาล์มที่เหลือจากภาคการผลิต...ที่ไม่ได้ถูกส่งออกนอกโรงงานอยู่แล้ว หากเราต้องการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต้องลดการเผาวัสดุการเกษตรกลางแจ้งลงให้ได้ เช่น ต้องลดการเผาใบอ้อย ฟางข้าวลงให้ได้ ไม่เกี่ยวกับการเผาในโรงงานหรือโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมแล้ว

“ใบอ้อยที่รัฐมีนโยบายลดการเผาอ้อยลงนั้น จะพบว่า การปลูกอ้อย 1 ตัน จะเกิดใบอ้อยสดประมาณ 370 กิโลกรัม คิดเป็นใบอ้อยแห้ง 140 กิโลกรัม ทิ้งไว้คลุมดิน 40% และเก็บรวบรวมนำไปผลิตไฟฟ้า 60% หรือ 84 กิโลกรัม หากคิดปริมาณผลผลิตอ้อยของประเทศไทยเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าไทยปลูกอ้อยได้เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจะมีใบอ้อยแห้งเกิดขึ้นปีละ 14 ล้านตัน ถ้าถูกเผากลางแจ้งจะทำให้เกิดฝุ่นลอยฟุ้งในบรรยากาศอย่างมหาศาล

แต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง หยุดเผาตามนโยบายลดฝุ่น ทิ้งใบอ้อยส่วนหนึ่งไว้คลุมดินเป็นธาตุอาหาร แล้วเก็บรวบรวมอีกส่วนหนึ่งเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้า จะเก็บได้ปีละ 8.4 ล้านตัน และถ้าดูค่าความร้อนของใบอ้อย จะพบว่าใบอ้อย 1 ตันนำมาผลิตไอน้ำได้ 3 ตัน ใบอ้อย 8.4 ล้านตันจึงนำไปผลิตไอน้ำได้ปีละ 25 ล้านตันไอน้ำ นำไปปั่นกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย บอกว่า หากรัฐบาลต้องการลดการเผาใบอ้อยนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้ารับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่

...

ที่ผ่านมามีข่าวการรับซื้อใบอ้อยแห้งโดยให้ราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท ได้ราคาดีกว่าต้นอ้อย ซะอีก...ถ้าเป็นแบบนี้จะมีเม็ดเงินไปถึงเกษตรกรมากถึงปีละ 8,400 ล้านบาท และถ้าหักค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมใบอ้อย ค่าอัดก้อนและค่าขนส่งออกแล้ว ชาวไร่จะเหลือกำไรประมาณตันละ 500 บาท คิดเป็นเม็ดเงิน 4,200 ล้านบาท

“คิดง่ายๆ ปลูกอ้อย 1 ไร่ จะขายใบอ้อยได้ 1 ตัน ชาวไร่มีกำไรจากการขายใบอ้อยเพิ่มไร่ละ 500 บาท ได้ทั้งเงิน ได้ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาฝุ่น แต่ปัญหาคือรัฐบาลต้องดำเนินการอนุมัติให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากใบอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นควัน และหากต้องการให้มีการจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาอ้อย ต้องจูงใจด้วยการให้ราคาใบอ้อยที่เหมาะสม” ดร.บุรินทร์กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิดเป็นการบ้าน

คำตอบ...มีให้ติดตามในตอนหน้า.

ชาติชาย ศิริพัฒน์