ฤดูร้อนสภาพอากาศแห้งแล้ง กรมวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวระยะฝักอ่อนถึงฝักแก่ เฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนศัตรูพืช 2 ชนิด คือ หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะฝักถั่วมารูค่า
หนอนกระทู้ผัก ฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะผิวใบด้านล่างทำให้เหลือแต่ผิวใบด้านบน มองเห็นใบโปร่งใสคล้ายร่างแห เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบและฝัก ทำให้ผลผลิตลดลง
วิธีป้องกันกำจัด นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แนะนำ เมื่อเริ่มพบการระบาดให้พ่นด้วย เชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง...แต่ถ้าพบว่าฝักถูกทำลายไป 10% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ ฟลูอาซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนเจาะฝักถั่วมารูค่า จะเจาะเข้าทำลายฝักหรือเจาะฝักที่ติดอยู่กับใบ กัดกินเมล็ดภายในฝัก ทำให้ผลผลิตลดลง หากพบฝักถูกทำลายไป 10% ให้พ่นสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตร 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวัง เพลี้ยอ่อน ที่จะมาดูดน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อนของถั่วเขียว ทำให้ต้นแคระแกร็น ยอดย่น หงิกงอ ดอกร่วง ฝักอ่อนบิดเบี้ยว และเมล็ดลีบ ผลผลิตเสียหาย และลดลงมากกว่า 30%...เมื่อพบเพลี้ยอ่อนระบาดให้พ่นสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน
ส่วน เพลี้ยไฟ ที่จะมาดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน ตาดอก หรือฝักอ่อน ทำให้ส่วนต่างๆของถั่วเขียวเกิดรอยด่าง หงิกงอ บิดเบี้ยวคล้ายใบหด เส้นกลางใบมีสีน้ำตาลเข้ม ใบแห้งกรอบ และหลุดร่วง ถ้าทำลายส่วนของฝักจะทำให้ฝักบิดเบี้ยว ไม่ติดเมล็ด ให้พ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบเพลี้ยไฟทำลายใบและดอกในระยะที่ถั่วเจริญเติบโต จนถึงระยะติดฝักอ่อน.
...
สะ-เล-เต