ผมอ่านเรื่อง คิดยากกว่าทำ ที่พระอาจารย์พรหมเล่า ไว้ในชวนม่วนชื่นแล้ว ยังพลอยคลี่คลายหลายเรื่องที่ค้าง-คาใจ สมัยบวชเณร ที่วัดเขาย้อย เพชรบุรี เมื่อปี 2501 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เรื่องที่พระอาจารย์พรหมเล่า เริ่มต้นว่าทุกวันพระ พระจะอดนอนทั้งคืนเพื่อภาวนาบนศาลาใหญ่ นี่เป็นวัตรปฏิบัติหนึ่ง ของพระป่า แต่ก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสเกินไป เพราะพระจะพักผ่อนได้ สายวันรุ่งขึ้น

เช้านั้น หลังวันพระ ขณะที่เรากำลังเดินกลับกุฏิ ไปนอนชดเชยให้สบายๆ หลวงพ่อชา ท่านเจ้าอาวาสก็เรียกพระผู้น้อยชาวออสเตรเลียนไปหา ส่งผ้ากองโตให้ท่านนำไปซัก ทั้งยัง
สั่งให้ท่านทำทันที

งานนี้ นี่ก็เป็นธรรมเนียมพระผู้น้อย ที่จะต้องอุปัฏฐากพระผู้ใหญ่ รวมการปฏิบัติเล็กๆน้อยๆอื่นๆ

หากเป็นงานซักจีวรแบบทั่วไป ผงซักฟอกจะช่วยให้งานง่ายและเร็วขึ้น

แต่นี่เป็นการซักตามกรรมวิธีดั้งเดิมของพระป่า ที่ต้องเริ่มจากการตักน้ำขึ้นมาจากบ่อ ก่อไฟต้มน้ำให้เดือด ใช้มีดพร้าฟันท่อนแก่นขนุนออกเป็นแผ่นบางๆ แล้วใส่ลงในน้ำเดือด รอจนยาง
แก่นขนุนออกมา ทำหน้าที่ “ผงซักฟอก”

นำผ้าทีละผืนไปวางในรางไม้ยาวๆ เทน้ำเดือดสีน้ำตาล ลงบนผ้าให้ทั่ว แล้วทุบด้วยมือจนกว่าจะสะอาด

การซักจีวรด้วยกระบวนการนี้ แค่ผืนเดียวก็ใช้เวลายาว เมื่อเป็นผ้ากองใหญ่ก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง

พระผู้น้อยชาวบริสเบน รู้จักภาระแสนหนักนี้ดี ท่านแสดงอาการไม่พอใจ โถ อดนอนมาทั้งคืน ถ้าได้เวลาพักสักหน่อย ก็คงพอไหว

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์พรหมบวชได้หลายพรรษา พอมีวิชา ท่านเห็นอาการพระออสเตรเลียน แล้วก็สงสาร จึงเดินตามไปโรงซักผ้า ขณะพระรูปนั้นกำลังสบถสาปแช่ง
ด้วยภาษาที่เขียนเป็นภาษาไทยแทบไม่ได้

...

“ไม่ยุติธรรมกับผมเลย ผมไม่ได้บวชมาเพื่อการนี้” นี่คือประโยคที่พอฟังได้

พระรุ่นพี่สบตา “คิดมันยากกว่าทำเยอะนะ” พระรุ่นน้องจ้องตาตอบ เงียบขณะหนึ่ง แล้วก็หันไปทำงานต่อ

วันรุ่งขึ้นพระรุ่นน้องตามมาขอบคุณ ที่ไปช่วยท่านในการซักผ้า ท่านสารภาพ เมื่อท่านหยุดบ่น จดจ่ออยู่กับงาน การซักผ้าก็ราบรื่น ท่านบรรลุความเข้าใจ เรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต คือความคิดนั่นเอง

เรื่องเล่าถึงวิธีการซักผ้าของพระอาจารย์พรหม ทำให้ผมเพิ่งเข้าใจ หลวงน้าช่วยสมภารวัดเขาย้อย ท่านห่มจีวรสีแปลกตา สีที่ผมเข้าใจว่าย้อมด้วยแก่นขนุน

วัดเขาย้อย เป็นวัดมหานิกาย แต่วัตรปฏิบัติเคร่งครัด พระตักน้ำจากตุ่มด้วยธมมกรก (เครื่องกรองน้ำ) ป้องกันไม่ให้ติดลูกน้ำ หลังเที่ยงพระฉันกาแฟดำไม่ใส่นม

ข้อหนุนที่สะดุดใจผมมาก หลวงน้าท่านห่มจีวรที่ย้อมจากแก่นขนุน และซักด้วยแก่นขนุน

เรื่องที่ผมเพิ่งรู้ ก็คือพระวัดเขา (ย้อย) ของท่านมีวัตรปฏิบัติแบบพระป่า

และผมก็เพิ่งเข้าใจ สังกัดนิกายของพระที่บรรลุทางธรรม คือเรื่องสมมติเท่านั้น แก่นสารอยู่ที่การปฏิบัติ ตามแบบพระพุทธเจ้าของเราซึ่งมีอยู่องค์เดียว

พระแบบที่เรากราบไหว้ได้สนิทใจ ก็พอมีอยู่บ้างนะครับ น่าเสียดายที่ดูเหมือนนับวันจะน้อยลง.

กิเลน ประลองเชิง